สรุปการประชุม ASEAN Tourism Forum (ATF 2015)
ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๖ มกราคม ๒๕๕๘
การประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ASEAN Tourism Forum (ATF 2015) เป็นงานที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และสนับสนุนให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางเดียว (Single Destination) สำหรับปี ๒๕๕๘ ประเทศเมียนมาร์ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานภายใต้ Theme “ASEAN-Tourism Towards Peace, Prosperity and Partnership”ในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ประกอบด้วย ๓ กิจกรรมหลัก ได้แก่
(๑) การประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยว
(๒) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยว
(๓) งานส่งเสริมการขาย Travel Exchange (TRAVEX)
นอกจากนี้ ททท. ได้จัดกิจกรรม Media Briefing ซึ่งรองผู้ว่าการ ด้านตลาดอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ บรรยายสรุปสถานการณ์การท่องเที่ยวและสินค้าการท่องเที่ยวของประเทศไทยกับผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ ในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๘ ณ Myanmar International Convention Centre 1 (MICC 1) รวมทั้งจัดกิจกรรม Late Night Function: 2015 Discover Thainess at Thai Night ณ โรงแรม Grand Amara โดยมีการแสดงดนตรีไทยประยุกต์ และการแสดงวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมชมงานกว่า ๕oo ราย
ผลการเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีท่องเที่ยวประเทศอาเซียน
# แถลงการณ์และวิสัยทัศน์
รองเลขาธิการอาเซียนรายงานผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๒๕ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ถึงความยินดีของผู้นำอาเซียนต่อความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนแม่บทสำหรับประชาคมอาเซียน (๒๕๕๒-๒๕๕๘) และเน้นย้ำถึงการเร่งดำเนินการตามแผนของปี ๒๕๕๘ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันจะนำไปสู่การเป็น “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” ตลอดจนยินดีต่อความสำเร็จในการพัฒนาวิสัยทัศน์ส่วนพื้นฐานสำหรับวิสัยทัศน์ของอาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ และมอบหมายให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนดูแลการดำเนินการตามวิสัยทัศน์
ที่ประชุมรับทราบถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนฉบับใหม่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๘ โดยมีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเน้นสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพนำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวที่หลากหลายและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีการกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์ในการมุ่งเน้นการเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างองค์รวมและยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมตลาด สินค้า การลงทุน บุคคลากรการท่องเที่ยว มาตรฐาน การเชื่อมโยง การอำนวยความสะดวกทางด้านการท่องเที่ยว การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ความปลอดภัยและความมั่นคง และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ โดยคาดว่าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯดังกล่าวจะแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนในงาน ATF 2016 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนแสดงความยินดีต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน โดยตัวเลขเบื้องต้นแสดงถึงจำนวนนักท่องเที่ยว ๙๗.๒ ล้านคน เติบโต ๓% จากปี ๒๕๕๖ โดยการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียน (Intra-ASEAN) คิดเป็นสัดส่วนหลักถึง ๕๓% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่ประเทศอาเซียนทั้งหมด
รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนรับทราบความคืบหน้าในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตาม ASEAN Mutual Recognition Arrangement (MRA) on Tourism Professionals ณ เมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามความตกลงการจัดตั้งสำนักเลขาธิการฯ ระหว่างการประชุม ASEAN Summit ในเดือนเมษายน ๒๕๕๘ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบทะเบียนวิชาชีพอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากรท่องเที่ยวระหว่างประเทศอาเซียน โดยปัจจุบันมีผู้ฝึกสอนจำนวน ๘๓ รายและผู้ประเมิน ๘๙ ราย ซึ่งได้รับการอบรมสำหรับสาขาโรงแรม แผนกผู้ผลิตอาหาร (Food Production), พนักงานต้อนรับส่วนหน้า (Front Office) และอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) พร้อมที่จะอบรมและผลิตบุคลากรในสาขาวิชาชีพดังกล่าวตามสมรรถนะร่วมของอาเซียนให้แก่แต่ละประเทศได้ต่อไป รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำสมรรถนะร่วมอาเซียนสำหรับสาขาธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อเป็นหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากรของอาเซียนร่วมกัน
# การเสริมสร้างคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว
การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของการร่วมเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันของอาเซียนผ่านการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยว โดย อาเซียนได้มีการจัดทำมาตรฐานโรงแรมสีเขียว โฮมสเตย์ สปา ห้องน้ำสาธารณะ เมืองท่องเที่ยวสะอาด และการท่องเที่ยวเชิงชุมชน แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐานสถานที่การจัดประชุม และวางแผนงานและจัดเตรียมระบบการติดตามดูแลการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวของอาเซียนร่วมกัน
# การส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอาเซียน
รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การตลาดท่องเที่ยวอาเซียน ๒๕๕๕-๒๕๕๘ (ASEAN Tourism Marketing Strategy: ATMS 2012-2015) และการดำเนินงานส่งเสริมตลาดอื่นๆ ในปี ๒๕๕๗ อาทิ การปรับปรุงเว็บไซต์การท่องเที่ยวอาเซียน www.aseantourism.travel สำหรับการใช้งานทาง mobile และ tablet กิจกรรมส่งเสริมการตลาดโดยเน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องอาหาร เทศกาล และ ประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์ของอาเซียน การดำเนินกิจกรรมโครงการ ASEAN for ASEAN เพื่อประชาสัมพันธ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียน ความร่วมมือกับ PATA ในการจัดทำโฆษณาสินค้าท่องเที่ยวอาเซียนความยาว ๑ นาที ในโครงการ PATA Love Campaign ซึ่งออกอากาศผ่าน Travel Channel และการออกบูธประชาสัมพันธ์อาเซียนในงาน PATA Travel Mart 2014 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนโครงการที่มาเลเซียเสนอในการพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์สถานีท่องเที่ยว Go ASEAN เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าท่องเที่ยวอาเซียน ได้แก่ การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาแพ็คเกจการท่องเที่ยวของอาเซียนร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันของอาเซียน
# การพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวอาเซียน
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าใน (๑) การจัดทำแผนกลยุทธ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ของอาเซียน (๒)การดำเนินการตามผลการศึกษาการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและมรดกของอาเซียนในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอาเซียนมากกว่า ๒ ประเทศขึ้นไป (๓) การประชาสัมพันธ์อาเซียนในงานส่งเสริมการขาย Cruise Show การจัด Fam Trip แก่คณะสายการเดินเรือ และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ (๔) การจัดงาน ASEAN Tourism Investment Forum 2014 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ร่วมกับ UNWTO ในการศึกษาการพัฒนาสินค้าทางแม่น้ำ รวมทั้งได้จัดทำ Coffee Table Book ‘Lemon Grass, a Taste of ASEAN’ และอยู่ระหว่างการประสานการถ่ายทำรายการสารคดีท่องเที่ยว United Taste of ASEAN เพื่อประชาสัมพันธ์อาหารของอาเซียน
รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน+๓ (จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) แสดงความยินดีกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังอาเซียน+๓ กว่า ๒๔o ล้านคนในปี ๒๕๕๗ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๖ ด้วยอัตราเติบโตร้อยละ ๖.๙% โดยการเดินทางภายในกลุ่มประเทศอาเซียน+๓ (Intra-ASEAN Plus Three) มีสัดส่วนสูงถึง ๖๖%
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าตามแผนการดำเนินงานความร่วมมือด้านท่องเที่ยวระหว่างอาเซียน และประเทศ +๓ ปี ๒๕๕๖-๒๕๖o อาทิ การจัด the ASEAN Plus Three Tourism Students Summit ณ กรุงเทพฯ
และพัทยาในเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ การจัดงาน Nara Tourism Statistics Week เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ รวมทั้งความร่วมมือจาก ASEAN-China Centre ASEAN-Japan Centre และ ASEAN-Korean Centre ซึ่งดำเนินความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอาเซียน อาทิ การเผยแพร่รายการสารคดีท่องเที่ยวอาหารอาเซียน การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และการจัด Media Fam Trip การสนับสนุนการเข้าร่วมงานส่งเสริมการขายระดับนานาชาติ โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนและการจัดอบรมบุคลากรท่องเที่ยวอาเซียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบถึงร่างบันทึกความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน +๓ (the Memorandum of Cooperation (MOC) on ASEAN Plus Three Tourism Cooperation) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสุดท้าย โดยคาดว่าจะสามารถลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าวได้ภายในงาน ATF 2016
#ความร่วมมือระหว่างอาเซียน – รัสเซีย
ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของนักท่องเที่ยวรัสเซียซึ่งกำลังทวีความสำคัญต่อกลุ่มประเทศอาเซียน และรับทราบถึงความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนและรัสเซียในการจัดหลักสูตรการสอนภาษารัสเซียให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ณ ประเทศกัมพูชา และข้อเสนอของรัสเซียเกี่ยวกับการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ตลอดจนการหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำประกันภัยการเดินทาง
ที่ประชุมรับทราบร่วมกันถึงการดำเนินงานเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวตามกรอบบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและอินเดีย อาทิ การแบ่งปันวิธีปฏิบัติในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การให้ความช่วยเหลือทางด้านการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ การสื่อสารในภาวะวิกฤต ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านสถิติ กลยุทธ์ โอกาสในการลงทุน และข้อมูลทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานศูนย์สุขภาพและสปาของอินเดีย นอกจากนี้ยังรับทราบถึงแผนการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว APCT อินเดีย ในปี ๒๕๕๘ และความประสงค์ของอินเดียที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ APCT ตลอดจนการสนับสนุนการจดทะเบียนของ APCT ผ่านความช่วยเหลือของกระทรวงการท่องเที่ยวอินเดีย
#ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ UNWTO WTTC PATA
รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนรับทราบรายงานของ WTTC ถึงการพัฒนาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกและการดำเนินกิจกรรมของ UNWTO ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียน อาทิ การศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวทางแม่น้ำของอาเซียน การจัดอบรมด้าน MICE การจัดสัมมนาพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงชุมชน และการจัด UNWTO/UNESCO World Conference on Tourism and Culture ณ เมืองเสียมราฐ กัมพูชา
PATA ได้แถลงต่อที่ประชุมถึงกิจกรรมของ PATA ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียน ตลอดจนข้อเสนอโครงการ PATA Love Campaign 2 และ โครงการเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยว AEC ตลอดจนการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤตและการพัฒนาบุคลากร
ที่ประชุมยินดีต่อการตอบรับของ UNWTO WTTC และ PATA ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนฉบับใหม่
# งานส่งเสริมการขาย Travex Exchange (TRAVEX 2015)
งาน TRAVEX 2015 จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๗-๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ณ Myanmar International Convention Centre ๑ โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากประเทศอาเซียน (Seller) จำนวน ๙o๕ ราย Buyers จำนวน ๒๖๔ ราย และสื่อต่างชาติจำนวน ๖๗ ราย โดยประเทศไทยจัดคูหาพื้นที่ ๑๓๕ ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด “Amazing Thailand: 2015 Discover Thainess” เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวและเจรจานัดหมาย โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมภายใต้คูหาประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น ๑๔ ราย