ลบ แก้ไข

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าปัญหาใหญ่ของกัมพูชา

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าปัญหาใ


      อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก เพราะนอกจากเสื้อผ้าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่แล้ว สำหรับหลายคน เสื้อผ้ายังเป็นความสุขในชีวิตอีกอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่เบื้องหลังเสื้อผ้าสวยๆที่เราสวมใส่กันนี้ มีกี่คนที่ต้องสังเวยชีวิต เพื่อผลิตเสื้อผ้าให้เราบ้าง

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นอุตสาหกรรมการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา แต่ขณะนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวกำลังประสบวิกฤตครั้งใหญ่ หลังจากในช่วงหลังที่ผ่านมา คนงานโรงงานทอผ้าพากันหยุดงานประท้วงขอขึ้นค่าแรง ซึ่งนำไปสู่การปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้ง เช่น การปราบปรามคนงานที่ออกมาประท้วงเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บอีกหลายคน และมีผู้ถูกจับกุมไปอีก 23 คน

ปีที่แล้ว มีการหยุดงานประท้วงโรงงานต่างๆในกัมพูชาเกือบ 400 ครั้ง มากกว่าปี 2555 กว่า 100 ครั้ง การที่คนงานกัมพูชาพยายามปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าว ถือเป็นการท้าทายอำนาจทางการเมืองที่แข็งแกร่งมากกว่า 30 ปีของนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ความรุนแรงดังกล่าวอาจมองว่าเป็นเพียงปัจจัยทางการเมืองที่ฝ่ายค้านของกัมพูชาหยิบยกขึ้นมากดดันให้นายฮุนเซนลาออกจากตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ช่วยให้สหภาพแรงงานต่างๆเริ่มเข้มแข็งขึ้นมา แต่ปัจจัยที่สำคัญก็คือ การที่คนงานเหล่านี้ถูกกดค่าแรงมาเป็นเวลานานจนเกินไป

อุตสาหกรรมเสื้อผ้านับเป็นร้อยละ 80 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา และอาจเรียกได้ว่าเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจกัมพูชาเลยทีเดียว แต่ในทางกลับกัน มหาอำนาจทางแฟชั่นเหล่านี้กลับจ่ายค่าแรงให้คนงานเพียงน้อยนิด เทียบไม่ได้กับกำไรมหาศาลที่ได้จากผู้เสพแฟชั่นทั้งหลายเลย ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานหลายแห่งยังจ้างแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด แม้จะถูกตักเตือนไปแล้วหลายครั้ง

การที่คนงานเป็นลมหมดสติเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากพวกเขามักทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้ค่าแรงเพิ่ม บวกกับการกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ โครงสร้างโรงงานบางที่ก็ไม่ได้มาตรฐาน อากาศภายในโรงงานไม่ค่อยถ่ายเท และที่แย่กว่านั้นคือ โครงสร้างโรงงานไม่แข็งแรงพอ จนเป็นอันตรายต่อคนงาน เช่น เมื่อต้นปีที่แล้ว เพดานของโรงงานรองเท้าแห่งหนึ่งพังถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ของที่อยู่บนชั้น 2 มีน้ำหนักมากเกินไป ทำให้เพดานถล่มลงมา

คนงานหลายคนเห็นว่าการประท้วงจะทำให้มีคนได้ยินเสียงของพวกเขา และจะนำไปแก้ไขปรับปรุงสภาพการทำงาน รวมถึงการขึ้นค่าแรงในที่สุด การหยุดงานประท้วงจึงสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา โดยแกนนำสหภาพแรงงานกัมพูชา เรียกร้องให้มีการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 5,200 บาทต่อเดือน สูงกว่าที่รัฐบาลเสนอให้ประมาณ 2,000 บาท

ด้านบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้านานาชาติอย่าง อาดิดาส และ เอชแอนด์เอ็ม ออกมาตอบรับขอเรียกร้องดังกล่าว พร้อมบอกว่า พวกเขาต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกัมพูชา และเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางแก้ไขด้วยสันติวิธี และคำนึงถึงสิทธิในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาก็ยังไม่ยอมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซ้ำยังกล่าวหาว่า การหยุดงานประท้วงทั่วประเทศในช่วง 2 สัปดาห์ ทำให้ประเทศเสียหายกว่า 6,500 ล้านบาท ส่วนสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าเห็นว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพถือเป็นเรื่องงี่เง่า เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้บริษัทต่างๆปิดโรงงาน และย้ายฐานไปที่ประเทศอื่นแทน


เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก voicetv.co.th
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor Bow
ชม 3,846 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean