ลบ แก้ไข

AEC กับความสุขของคนไทย

AEC กับความสุขของคนไทย

1) มองอุปสรรคให้เป็นโอกาส
AEC เป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรค ขึ้นอยู่กับความพร้อมขององค์กรและมุมมองของแต่ละคน สําหรับองค์กรที่มีความพร้อม จะมองว่านี่คือโอกาสของบริษัทเพราะ

•    เป็นการรวมตัวของ 10 ประเทศที่มีประชากรประมาณ 500 ล้านคน จะทําให้การค้าขายดีขึ้น ยังไม่นับรวมกับอีก 6 ประเทศที่เมื่อรวมกันแล้วมีประชากรถึงครึ่งโลก
•    แรงงานที่จะมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีจะทําให้อุปทาน (Supply) ของตลาดแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ต่อไปจะสามารถคัดสรรคนเก่งคนดีมีความสามารถมาทํางานได้ง่ายขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายน่าจะหมดไป
•    ความยุ่งยากในการทําเอกสารขออนุญาตทํางานสําหรับชาวต่างชาติ (Work Permits) ก็จะลดลง การจ้างแรงงานต่างชาติที่มาจากประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ทําได้ง่ายขึ้น
•    การจัดตั้งธุรกิจและเปิดสาขาในประเทศต่างๆ ในกลุ่ม จะทําได้ง่ายขึ้น นอกจากการดําเนินธุรกิจนอกประเทศจะสะดวกขึ้น ไม่ต่างจากการเปิดสาขาใหม่ในต่างจังหวัดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนและกําไรก็จะทําได้ง่ายขึ้น อันมีผลทําให้การทําธุรกิจคล่องตัว ความสามารถในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
•    จากผลสำรวจพบว่าศักยภาพและความพร้อมของไทยอยู่ในระดับ “กลางๆ” เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และเป็นรองแม้กระทั่งอินโดนีเซียและห่างไกลมากกับมาเลเซียที่มีศักยภาพเป็นอันดับสอง ส่วนสิงคโปร์นั้นมีศักยภาพสูงสุด ทำให้เรามองว่านี่เป็นโอกาสที่จะเรียนรู้เพิ่มขึ้น

2)  จะทำอะไรต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจจึงจะไม่เครียด
•    ต้องเตรียมวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อม วัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างของคนไทย ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมเหล่านั้นอาจไม่เหมาะและกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เช่น การใช้ระบบอาวุโส หรือการไม่เถียงผู้ใหญ่ เป็นต้น
•    เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่ให้พนักงานสามารถทํางาน ภายใต้ความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพความหลังที่แตกต่าง เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือแม้แต่ความคิดและความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน เราต้องเตรียมความรู้ด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ วันนี้หากพูดอ่านเขียนได้คล่อง ถือเป็นเรื่องพิเศษ อีกสัก 5 ปีจากนี้ไป ตลาดอาจถามหาภาษาที่ 3 แล้วก็ได้
•    ต้องเตรียมมองหาและรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรให้ได้เพราะต่อไปการแย่งชิงตัว พนักงานโดยเฉพาะพนักงานเก่ง ๆ คงมากขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องสร้างบรรยากาศให้การทำงานมีความสุขพนักงานก็จะอยู่กับบริษัทได้นาน ไม่คิดจะย้ายไปทำงานที่อื่น
•    ต้องเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กําลังจะมาถึง จงบอกกับตัวเองว่า วิธีคิดและการทํางานแบบเดิม ๆ ที่เคยสําเร็จอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป องค์กรที่น่าเป็นห่วงคือองค์กรที่บุคลากรไม่เคยมีการหมุนเวียนงาน (Rotation) เลย เพราะคนเหล่านี้จะรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างยาก
•    ต้องตัดคําว่า “ความมั่นคงในการทํางาน” (Job Security) และ “ความภักดี” (Loyalty) ออกจากพจนานุกรม เพราะต่อไปสองคํานี้คงไม่มีในการทํางาน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสามารถ (Employability) หากพนักงานมีความสามารถ การงานย่อมมั่นคง หากองค์กรมีความสุข พนักงานก็จะเกิดความภักดีขึ้นเอง

3) เป็นผู้นำที่นำความสุขมาให้องค์กร
•    ผู้นําต้องเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้และรับรู้ข่าวสาร เป็นคนแรกในองค์กรที่รับรู้และตื่นตัวเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ และมีหน้าที่สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้คนในองค์กรให้เกิดความตระหนัก ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนก
•    ผู้นําต้องมีหน้าที่ให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ และทรัพยากรในการพัฒนาและรักษาคน เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องทําตั้งแต่วันนี้
•    ผู้นําควรปรับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในการทํางานให้เป็นองค์กรน่าอยู่ เช่น ปรับปรุงสถานที่ให้มีบรรยากาศที่ดีในการทํางาน การจัดสิ่งอํานวยความสะดวกที่เหมาะสม ไม่ปล่อยปละละเลยหรือมองข้ามเพราะเห็นว่าไม่ใช่สิ่งจําเป็น เป็นต้น
•    ผู้นำต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะการแข่งขันจะมีมากขึ้น และวิธีการเดิม ๆ อาจจะใช้ไม่ได้ เช่น การลงคลาสิฟลายด์เพื่อรับสมัครงาน ต่อไปอาจจะต้องใช้เฟซบุ๊กในการสรรหาคน เป็นต้น

4) สร้างสังคมให้มีความสุขเพื่อรับ AEC
•    โลกวันนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่คือ “โลกทั้งใบ” ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่ง เราจะต้องไม่ยึดติดกับอดีต หันมาให้ความสําคัญกับ “คน” สร้าง “สังคมแห่งความสุข” ที่มีการก้าวย่างที่รวดเร็วและรู้จักปรับตัว หรือไม่ยึดติดกับความคิดเดิม ๆ
•    ช่วยกันส่งผ่านไอเดียเรื่อง “The Value of Happiness” คุณค่าของความสุข ตอกย้ำแนวคิดการสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิต ในองค์กรที่เตรียมพร้อม ถ้าคุณดูแลคนของคุณดีเท่าไร คุณจะทํากําไรได้มากขึ้นเท่านั้น นี่คือคุณค่าของการสร้างความสุขร่วมกัน”
•    จากผลสำรวจพบว่า การที่พนักงานรักกัน ทําให้ทํางานได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพในการทํางานมากขึ้น แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติ เราต้องสร้างองค์กรแห่งความสุขที่ตอบโจทย์รอบด้าน ไล่ตั้งแต่ “พนักงาน” ที่อยู่ในองค์กรมีความสุข รู้สึกมีคุณค่า “ลูกค้า” ที่สัมผัสได้ถึงคุณค่าของสินค้าและบริการนั้น “คุณค่าของงาน” ที่พนักงานมีความสุขเมื่อได้บริการหรือทําสิ่งดี ๆ ให้กับลูกค้า
•    สุดท้ายคือ “คุณค่าขององค์กร” องค์กรมีคุณค่า จากการที่คนรู้จักคุณค่าของตัวเององค์กรแบบนี้จะเป็นองค์กรที่ไม่มีวันตาย ซึ่งไม่จําเป็นต้องใหญ่โตเลย แค่ร้านก๋วยเตี๋ยวเล็ก ๆ ก็เป็นองค์กรแห่งความสุขได้โดยที่พนักงานทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนาน ท่ามกลางคนเยอะแยะไปหมด เพราะเขาคือองค์กรแห่งความสุข ที่ไม่ได้เอาระบบเป็นตัวนํา แต่เอาความสัมพันธ์ของคนในองค์กรเป็นตัวนํา”

5) งานคือส่วนหนึ่งของชีวิต
อดีตเรามองว่า “งานคือชีวิต” แต่กับคนวันนี้ “งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” ไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีทําให้เป็นอย่างนั้น แต่ด้วยความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ ในการจัดการและความรู้เรื่องเทคโนโลยีนี่เอง ที่ทําให้เขาสามารถทําอะไรได้เยอะกว่าคนรุ่นเก่ามหาศาล นี่เป็นความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและโลก วันนี้เราเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค ไม่ใช่อยู่คนเดียว ถ้ายังอยู่กับโลกใบเดิม คิดเหมือนเดิม ทําเหมือนเดิม เราจะเจอกับจุดอ่อนจากการเปลี่ยนแปลง อย่างการเปิด AEC อย่างน้อยคนของเราต้องเข้าถึงคําว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ต้องเลิกความคิดดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน หรือคิดว่าเราเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้มันใช้ไม่ได้สําหรับอนาคต เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว โลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่คือโลกทั้งใบ การเตรียมพร้อมเรื่องคน ด้วยการเข้าใจไลฟ์สไตล์หรือวิธีคิด ของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องให้คนนํางานไม่ใช่งานนําคน และเข้าใจว่าสิ่งที่ยึดคนให้อยู่กับองค์กรได้ ไม่ใช่ตัวเลขเงินเดือนหรือสวัสดิการ แต่คือ การเป็นที่ที่เขา “มีความสุข” ได้รู้จัก “คุณค่าของตัวเอง” และเมื่อไรก็ตามที่คนไทยทุกคนรับรู้คุณค่าแห่งความสุขและการได้ใช้ชีวิตร่วมกัน วันนั้นคนไทยก็พร้อมแล้วที่จะอยู่ในยุค AEC ได้อย่างมีความสุขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้จักจบสิ้น แล้วตอนนี้คุณล่ะได้สร้างความสุขให้กับองค์กรและสังคมของคุณบ้างหรือยัง?

รอบรู้อาเซียน ตอน เตรียมพร้อมคนไทยรับ AEC 8 พ.ค.56


เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก mthai.com
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor Bow
ชม 3,864 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean