ลบ แก้ไข

ฟิลิปปินส์เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

ฟิลิปปินส์เตรียมพร้อมรับ

       ดอยช์โพสต์ ดีเอชแอล ผนึก  UNDP  จัดเวิร์กช็อปเตรียมความพร้อมให้สนามบินรับมือภัยพิบัติ  “Get Airports Ready for Disaster”  ครั้งที่  2  ในฟิลิปปินส์ขยายผลจากความสำเร็จในการปฏิบัติงานของทีมรับมือภัยพิบัติดีเอชแอลในเมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เพิ่มศักยภาพของสนามบินให้มีความพร้อมรับมือภัยพิบัติ

ดอยช์โพสต์ดีเอชแอล ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(United Nations Development Program หรือ UNDP)จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเตรียมความพร้อมให้สนามบินหลังเกิดภัยพิบัติ หรือ “Get Airports Ready for

Disaster” (GARD) ครั้งที่  2 ที่สนามบินแมคตันเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้พนักงานที่ปฏิบัติงาน ณ สนามบินมีความพร้อมในการจัดการระบบโลจิสติกส์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงสามารถดูแลสิ่งของและผู้โดยสารที่มาถึงสนามบินเป็นจำนวนมากภายหลังการเกิดภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 52 คน ประกอบด้วยพนักงานจากส่วนงานต่าง ๆ ของการท่าอากาศยานแมคตันเซบู อาทิ การปฏิบัติการภายในสนามบิน การควบคุมการสัญจรทางอากาศ การรักษาความปลอดภัย รวมทั้งพนักงานจากหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการช่วยเหลือภายหลังการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

การฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้สนามบินหลังเกิดภัยพิบัติ หรือ GARD จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่สนามบินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติให้มีขีดความสามารถในการดูแลและบริหารคนและสิ่งของที่มีจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังจากมีภัยพิบัติเกิดขึ้น ทั้งนี้พนักงานของดีเอชแอลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการภัยพิบัติได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรอาสาสมัคร เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมโดยไม่คิดค่าบริการ ขณะที่ UNDP จะทำหน้าที่ดูแลและบริหารโครงการ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานของทางราชการที่เกี่ยวข้องและให้ทุนสนับสนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเวิร์กช็อปดังกล่าว

คริสทอฟ เออร์ฮาร์ท รองประธานบริหาร/ฝ่ายสื่อสารองค์กรและความรับผิดชอบระดับองค์กรต่อสังคม ดอยช์โพสต์ ดีเอชแอล กล่าวว่า การจัดการประชุมสัมมนาดังกล่าวทำให้ดอยช์โพสต์ ดีเอชแอล สามารถทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์และกำหนดศักยภาพของสนามบินในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งยังร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจัดทำพิมพ์เขียวสำหรับพื้นที่แต่ละจุด เพื่อรองรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ล่าสุดจากประสบการณ์ในการรับมือพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนทำให้การอบรมครั้งนี้ได้มุ่งเน้นติดอาวุธให้ทีมงานที่ปฏิบัติการประจำสนามบินนานาชาติแมคตันเซบูมีทักษะในการจัดการโลจิสติกส์เครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยอื่น ๆ ที่ได้จัดส่งมาถึงสนามบินหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

โจ ชูเออร์ ผู้ประสานงานเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติทั่วโลกแห่ง UNDP กล่าวว่า ความร่วมมือกับดีเอชแอลครั้งนี้ทำให้เรามีโอกาสเตรียมความพร้อมให้แก่สนามบินต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น โดยในแต่ละประเทศที่เราได้จัดทำโครงการ GARD ขึ้นนั้น การจัดเวิร์กช็อปเป็นหนึ่งในหลากหลายกิจกรรมที่เราจัดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติรวมถึงช่วยพันธมิตรป้องกันกำจัด และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ

ไนเจล พอล ซี.วิลลาเรท ผู้จัดการทั่วไป สนามบินนานาชาติแมคตันเซบู กล่าวว่า ประเทศของเราตั้งอยู่ในแนววงแหวนการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งยังอยู่ในแนวเข็มขัดไต้ฝุ่นซึ่งในแต่ละปี มีพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้นประมาณ 80 ลูกบนน่านน้ำเขตร้อนชื้น ทั้งนี้ผลกระทบที่ได้รับจากภัยธรรมชาติดังกล่าวทำให้เราต้อง

เตรียมความพร้อมให้มากยิ่งขึ้นในกรณีที่ต้องเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในอนาคต

การจัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ GARD มีขึ้นในสนามบินของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 23 แห่ง ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย (ปี 2552, 2554 และ 2555) เนปาล(2553) บังกลาเทศ (2554) เลบานอน (2555) ตุรกี (2555) เอล ซัลวาดอร์ (2556)  ฟิลิปปินส์(2556) ปานามา (2556) อาร์เมเนีย (2556) และเปรู (2557)



เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก เดลินิวส์
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor Bow
ชม 3,569 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ