ลบ แก้ไข

ประเทศมาเลเซียกับ ประชาคมอาเซียน

ประเทศมาเลเซียกับ ประชาค

มาเลเซียเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนใน ค.ศ. 1967 ในช่วงนั้นกล่าวได้ว่ามาเลเซียมีความใกล้ชิดกับไทยมาก
ผู้นำของมาเลเซียในขณะนั้น คือ ตนกู อับดุล ระห์มัน (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย มีมารดาเป็นคนไทย ชื่อ เนื่อง นนทนาคร ชายาองค์ที่ 4 ของเจ้าพระยาไทรบุรี [อับดุล ฮามิด (Abdul Hamid) หรือเจ้าพระยาฤทธิสงคราม] สุลต่านองค์ที่ 24 แห่งรัฐเกดะห์ หรือที่ไทยเรียกว่าไทรบุรี ท่านเคยศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่วมกับพี่ชายอีก 3 คนในระหว่าง พ.ศ. 2456-2458 และภรรยาคนแรกของท่านก็เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ชื่อ ท่านผู้หญิงมาเรียม จง หรือมาเรียม อับดุลละห์ (Meriam Chong หรือ Meriam Abdullah) ซึ่งมีบุตรด้วยกัน 3 คน

ตนกู อับดุล ระห์มันต้องหมดอำนาจลงภายหลังการจลาจลทางเชื้อชาติครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 1969 แต่ ตน อับดุล ราซัค (ชื่อเต็มคือ Tun Abdul Razak bin Hussein Al-Haj หรือมักเรียกสั้นว่า ตน ราซัค) ที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปีต่อมา ก็คือผู้ที่ร่วมลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพฯ” ที่ก่อตั้งอาเซียน และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายนาจิบ ราซัค (Datuk Seri Najib Razak) ก็คือบุตรชายคนโตของท่าน

มาเลเซียประกอบด้วยหลากหลายเชื้อชาติ (เป็นชนชาติมาเลย์และกลุ่มคนดั้งเดิมร้อยละ 62 คนเชื้อสายจีนร้อยละ 23 และคนเชื้อสายอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทมิฬ ร้อยละ 7) เป็นชาติที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงสมัยที่ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด (Tun Dr. Mahathir bin Mohamad) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. 1981-2003 เมื่อนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy - NEP) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1971 ในสมัยของนายกรัฐมนตรี ตน ราซัค สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1990 ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ก็ถือเป็นโอกาสที่จะเสนอแนวทางเศรษฐกิจของตนเองในปีต่อมา ซึ่งประกอบด้วย “วิสัยทัศน์ 2020” และ “นโยบายพัฒนาประเทศ” (National Development Policy - NDP) ที่จัดทำขึ้นแทน NEP วิสัยทัศน์สำคัญประการหนึ่งคือการทำลายอุปสรรคทางเชื้อชาติที่มีต่อการพัฒนาประเทศ โครงการต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อพวก “ภูมิบุตร” (Bumiputra หรือ “son of the soil”) เป็นการเฉพาะก็จะให้ขยายไปสู่กลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ ด้วย และโดยเฉพาะ “วิสัยทัศน์ 2020” นั้น มีเป้าหมายที่จะนำมาเลเซียไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปีดังกล่าว

โครงการต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรี ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด พยายามผลักดันเพื่อเป้าหมายที่กล่าวนี้ ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การสร้างรากฐานสำหรับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ เช่น การลงทุนมหาศาลสร้าง Multimedia Mass Corridor (MMC) และ Cyber-jaya (The Intelligent City) นอกจากนั้น ยังมีโครงการ Smart School ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในโรงเรียน

โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (science, technology, engineering and mathematics - STEM) กำหนดให้มีการเรียนการสอนวิชาการด้านนี้เป็นภาษาอังกฤษในทุกระดับการศึกษาเพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาชาวมาเลเซียได้พัฒนาความรู้ภาษาอังกฤษไปพร้อมๆ กันมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 รวมทั้งมีการยกระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้มีความเป็นสากลเพื่อให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาในระดับนี้ ซึ่งทำให้มีการสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงของอังกฤษและออสเตรเลียหลายแห่งเปิดรับนักศึกษาและมีวิทยาเขตอยู่ในประเทศนี้

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นาจิบ ราซัค มีนโยบาย “1 Malaysia” ที่ย้ำความสมานฉันท์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางเชื้อชาติเพื่อให้การปกครองบริหารประเทศมีประสิทธิภาพ นโยบายนี้มีโครงการช่วยเหลือคนยากคนจน (ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 ริงกิตมาเลเซียต่อเดือน) และโครงการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น และในด้านการพัฒนาประเทศก็มีการจัดทำ “ตัวแบบทางเศรษฐกิจใหม่” (New Economic Model) ที่จะผลักดันให้มาเลเซียพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้เร็วขึ้น

มาเลเซียมีส่วนในการส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเป็นปึกแผ่นในภูมิภาคมาตั้งแต่แรกเริ่ม ดำริที่จะให้มีการจัดตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asia - ASA) ขึ้นใน ค.ศ. 1961 เกิดขึ้นจาก 3 ชาติในภูมิภาค คือ มาเลเซีย (ขณะนั้นยังเป็นสหพันธรัฐมาลายา) ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย หรือแผนการจัดตั้งสมาพันธ์รัฐของชนชาติมาเลย์ (Greater Malayan Confederation) ที่เรียกตามชื่อย่อของ 3 ประเทศที่ร่วมอยู่ในแผนการนี้ คือ Maphilindo (มาลายา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) แม้ว่าดำริและแผนการเหล่านี้จะไม่มีผลดำเนินการใดๆ แต่ก็ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การก่อตั้งอาเซียนในที่สุด

ดังนั้น ในฐานะที่เป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งอาเซียน มาเลเซียผูกพันใกล้ชิดและให้ความสำคัญต่อสมาคมประชาชาติแห่งนี้ตลอดมา มาเลเซียถือว่าอาเซียนเป็น “เสาหลัก” (cornerstone) ของนโยบายต่างประเทศของตน ดำริสำคัญหลายประการของอาเซียนก็เป็นผลมาจากการเสนอแนะและผลักดันของมาเลเซีย เช่น การประกาศให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น “เขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง” (Zone of Peace, Freedom and Neutrality - ZOPFAN) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือนพฤศจิกายน 1971 หรือดำริเรื่องการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ที่จัดประชุมครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2005 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ก็กล่าวได้ว่ามาจากความคิดเรื่อง East Asia Economic Caucus ของ ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด นั่นเอง ความเข้มแข็งด้านต่างๆ ของมาเลเซียในปัจจุบันทำให้ประเทศนี้เป็น “เสาหลัก” หนึ่งของอาเซียนด้วย




เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด.
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor Bow
ชม 15,727 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ