ลบ แก้ไข

ค้าขายชายแดน โอกาสที่ใกล้ตัว

ค้าขายชายแดน โอกาสที่ใกล
unseentourthailand.com

สถิติการค้าชายแดนของไทยกับเพื่อนบ้านในตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับว่ามีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด สวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซาลงอย่างหนักสะท้อนให้เห็นว่าโอกาสการเปิดตลาดการค้าชายแดนไทยกับ 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา มีโอกาสเติบโตสดใส และเป็นเรื่องใกล้ตัวเกินกว่าที่จะมองข้ามได้ ผศ.วิจิตรา ล.เฉลิมชัยชนะ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ฉายภาพผ่านรายการเศรษฐกิจติดจอ ทางเดลินิวส์ ทีวี เมื่อวันที่ 15 ก.พ. โดยบอกว่า การเติบโตของการค้าชายแดนมีอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติการค้าชายแดนของไทยในปี 53 มีมูลค่าการค้าชายแดนเพียง 6 แสนล้านบาทเศษ แต่ผ่านมาเพียง 2 ปี ในปี 55 สถิติการค้าชายแดนไทยกลับขยายตัวรุดหน้าอย่างรวดเร็วจนถึง 9.15 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตทะลุหลัก 1 ล้านล้านบาท ได้ในปี 56 นี้ ตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญที่สุด มาจากประเทศมาเลเซีย โดยปี 55 มีมูลค่า 5.19 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นพม่า 1.8 แสนล้านบาท ลาว 1.3 แสนล้านบาท และกัมพูชา 8 หมื่นล้านบาท แต่หากลงในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ปีที่ผ่านมาการค้าชายแดนกับมาเลเซียมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยติดลบถึง 7% เนื่องจากเกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สวนทางกับ พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา ที่กลายเป็นดาวดวงใหม่ที่ทำมาค้าขายกับไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสปป.ลาวมีอัตราการขยายตัวสูงสุดถึง 29% รองลงมาเป็นกัมพูชา 28%และพม่าขยายตัว 15% จึงเห็นได้ว่าพื้นที่ชายแดนทางภาคตะวันออก ตะวันตก อีสาน และเหนือของไทย ยังมีโอกาสการเติบโตทางการค้าสูง ในปีนี้มองว่ายังเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปแสวงหาโชคจากการค้า

ค้าขายชายแดน โอกาสที่ใกล
 

การลงทุน โดยเฉพาะรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปี ที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ปรับตัว และใช้ประโยชน์ให้ได้ ทั้งการออกไปเปิดตลาดขยายการขายสินค้า รวมถึงการรับมือคู่แข่งจากต่างชาติที่กำลังเข้ามา โดยมีการค้าชายแดนเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของประเทศไทย อย่างในตลาดพม่า ตอนนี้ไทยยังมีการค้ากับพม่าไม่สูงนัก แต่ในอนาคตหลังจากพม่าเปิดประเทศ ถือว่ามีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก เพราะมีประชากรจำนวนมากพอๆ กับไทย อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติสูง และที่สำคัญยังมีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองทวาย ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุนขนาดใหญ่ของอาเซียน ดังนั้นไทยจะต้องเข้าไปเสาะหาโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งถือว่ามีโอกาสมากเพราะไทยมีอาณาเขตติดกับพม่าหลายจุดทั้งด่านศุลกากรระนอง ด่านเจดีย์สามองค์ และบ้านพุน้ำร้อน ที่ติดกับท่าเรือทวาย ส่วน สปป.ลาว และกัมพูชา ก็มีโอกาสมากเช่นกัน ทั้งการค้าขายโดยตรงกับทั้ง 2 ประเทศ ที่ยังมีความต้องการสินค้าจากไทยสูง หรืออาจใช้ทั้ง 2 ประเทศเป็นช่องทางการค้าผ่านไปยังประเทศที่สาม ทั้งลาวที่สามารถเชื่อมต่อกับทางประเทศจีนตอนใต้ หรือกัมพูชาที่เชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนาม ขณะที่พูดถึงเรื่องตัวสินค้า ถือว่าเป็นจุดเด่นจุดขายของไทยทีเดียวและไม่ต้องปรับปรุงมาก เพราะชื่อเสียงของสินค้า เมดอิน ไทยแลนด์ ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเรานี้ ได้รับการยอมรับและมีมาตรฐานดี ส่งผลให้ตลาดมีความนิยมต้องการสูง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน เช่น สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก ยาสีฟัน รวมถึงสินค้าคงทน หรือสินค้าในกลุ่มฟุ่มเฟือยก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องดื่มและอาหารสุขภาพ เนื่องจากประเทศเหล่านี้กำลังมีเศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อบริโภคสินค้าหรูหราเพิ่ม อย่างไรก็ตามการจะเดินทางไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ แม้มีโอกาสเปิดกว้าง แต่ภาคเอกชนก็ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ และศึกษา ความรู้ด้านภาษา และข้อมูลการค้าการลงทุนให้ดีก่อน โดยเฉพาะกฎระเบียบในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่าง เป็นลักษณะเฉพาะตัวมาก รวมถึงต้องปรับมุมมองในการกล้าที่จะเข้าไปทำการค้ากับประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะSMEs จำเป็นต้องตื่นตัว ศึกษาข้อมูลเพิ่ม ทั้งการเปิดเกมรุกหรือตั้งเกมรับให้ดี เพราะหลังจากการเปิดAEC ต่อไปการค้าชายแดนจะเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงของภาคการค้า การลงทุนได้ การจะเปิดเกมรุกในตลาดค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักเพราะต้องรู้ให้จริง ที่สำคัญผู้ประกอบการเอง “ต้องกล้าให้พอ”ที่จะออกไปทำการค้าขาย ในเมื่อมองเห็นโอกาสอยู่ตรงหน้าแล้วก็ต้องไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป เพราะ “ทุนเดิม” มีให้เห็นอยู่แล้ว แต่หากไม่กล้าให้พออาจทำให้เสียโอกาส เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน จะเข้ามาตีตลาดค้าชายแดนที่กำลังสดใสนี้ได้ ดังนั้นในเมื่อเพื่อนบ้านต่างให้ความสำคัญกับสินค้าไทยมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้วก็ต้องฉกฉวยโอกาสนี้เอาไว้ ที่สำคัญผู้ประกอบการเองต้องยกระดับสินค้าของตัวเองให้ขึ้นมาอยู่ในระดับกลางและระดับบน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตัวเองด้วย




เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก การค้าชายแดนไทย -- พม่า ,bcca.go.th
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor Bow
ชม 5,187 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ