ลบ
แก้ไข

เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก toptenthailand.com
10 อันดับ เรื่องเล่าวันออกพรรษา

1. วันออกพรรษา
อันหมายถึง วันสิ้นสุดการจำพรรษา ของภิกษุครบ 3 เดือนในฤดูฝน เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา (อ่านว่า ปะ - วา - ระ - นา) หรือ วันมหาปวารณา คือ วันที่เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยเมตตาจิต เมื่อได้เห็น ได้ฟังหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน2. ความเป็นมาของการทำปวารณากรรม
สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล พุทธสาวกจะมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อออกพรรษาหมดฤดูฝน จะพากันเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็จะทรงตรัสถามถึงสิ่งที่พระภิกษุได้ประพฤติปฏิบัติในระหว่างจำ พรรษา ปรากฏว่ามีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งเกรงว่าในช่วงจำพรรษาด้วยกัน จะเกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาท จนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกากันเองว่าจะไม่พูดจากัน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้ ก็ทรงตำหนิว่าการประพฤติดังกล่าวเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ จึงทรงวางระเบียบวินัยให้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อมาว่า ให้ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้ว ทำปวารณาแทนการสวดพระปาติโมกข์ในวันออกพรรษา การปวารณาหรือการว่ากล่าวตักเตือนในหมู่ สงฆ์นี้ ผู้ว่ากล่าวตักเตือนจะต้องทำด้วยความเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ถูกตักเตือนทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ถ้าเป็นจริงตามคำกล่าวก็ปรับปรุงตัวใหม่ หากไม่จริงก็สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้กระจ่าง ทั้งสองฝ่ายต้องคิดว่าทักท้วงเพื่อก่อ ฟังเพื่อแก้ไข จึงจะได้ประโยชน์และตรงกับความมุ่งหมายของการปวารณาที่จะสร้างความสมัครสมาน สามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์3. การสวดพระปาติโมกข์
คือ การที่พระสงฆ์สวดสิกขาบท (พระวินัย) 227 ข้อทุกกึ่งเดือน ในที่ประชุมสงฆ์ เรียกอีกอย่างว่า ลงอุโบสถกรรม (สวดปาติโมกข์ ในที่นี้ มิใช่โอวาทปาติโมกข์ อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนา ของพระพุทธเจ้าเมื่อวันมาฆาบูชา)4. หลักการปวารณาในวันออกพรรษา
เป็นหลักที่พุทธศาสนิกชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ทั้งใน ครอบครัว สถานศึกษาหรือในสถานที่ทำงานโดยยึดความเมตตาต่อกันเป็นที่ตั้ง คือ ถ้าจะติก็ติด้วยความหวังดีมิใช่ทำลายอีกฝ่าย ส่วนผู้ถูกติก็ควรรับฟังด้วยดีและมองเห็นความหวังดีของผู้ว่ากล่าว หากจริงก็แก้ไข ไม่จริงก็ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่นนี้ย่อมทำให้สังคมเกิดความสงบสุข สามารถแก้ไขปัญหาและพร้อมจะพัฒนาไปด้วยกันทุกฝ่าย5. ประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับวันออกพรรษา
ได้แก่ ประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งย่อมาจาก “เทโวโรหนะ” หมายถึง การเสด็จลงมาจากเทวโลกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในแคว้นต่างๆ ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายา ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ 7 วัน จึงทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา ดังนั้น จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฏกโปรดพระพุทธมารดาและเทวดาทั้งหลายอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 หรือหลังวันออกพรรษา 1 วัน พระองค์เจ้าจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชนต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนื่องแน่น ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธจึงถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกมาสู่เมืองมนุษย์ จึงนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ และทำสืบต่อมาเป็นประเพณีที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโว” มาจนทุกวันนี้6. วันตักบาตรเทโว
เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” ด้วยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่โลกมนุษย์หลังวันออกพรรรษา นั้น เล่ากันว่ามีเทวดาจำนวนมากได้ตามส่งเสด็จอย่างสมพระเกียรติ พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกมองเห็นกันและกันตลอดทั้ง 3 โลก คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก อีกทั้งในวันนี้การลงโทษในเมืองนรกได้ยุติลงชั่วคราว จึงเรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก”7. สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หมายถึง สวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น ซึ่งมี ท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์ เป็นจอมเทพผู้ปกครอง สวรรค์ 6 ชั้นดังกล่าว เรียกว่า “กามภพ” หมายถึง ภพที่ท่องเที่ยวไปในกาม แบ่งออกเป็น ชั้นจาตุมหาราช เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ชั้นดาวดึงส์ เป็นเมืองของพระอินทร์ ชั้นยามา เป็นเมืองของสยามเทวราช ชั้นดุสิต (ดุสิต แปลว่า บันเทิง) มี สันดุสิตเทวราช เป็นผู้เป็นใหญ่ ชั้นนิมมานนรดี (นิม - มาน - นอ - ระ - ดี) หมายถึง ผู้ยินดีในการเนรมิต และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ปอ - ระ - นิม - มิด - ตะ - วะ - สะ - วัด - ดี) มีพระยามาราธิราช เป็นใหญ่8. ของทำบุญที่นิยมกันเป็นพิเศษในประเพณีตักบาตรเทโวฯ
คือ ข้าวต้มลูกโยน โดยจะเอาข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาว กล่าวกันว่าที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยนคงเป็นเพราะ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลก พระบรมศาสดาถูกห้อมล้อมด้วยมนุษย์และเทวดาจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึง คิดวิธีใส่บาตรโดยโยนเข้าไป และที่ไว้หางยาวก็เพื่อให้โยนได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งการโยนลักษณะนี้คงเกิดขึ้นภายหลัง มิใช่สมัยพระพุทธองค์จริงๆ และทำให้เป็นนัยยะมากกว่า เพราะปัจจุบันจะใช้การแห่พระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า สำหรับปีนี้ “วันตักบาตรเทโว” ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 25499. หลังออกพรรษาแล้ว จะเป็นช่วงเทศกาลกฐิน
เป็นเวลา 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม ถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 254910. แนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนในวันออกพรรษา
นอกจากหลักปวารณาที่ได้กล่าวไปแล้ว ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สถานที่ทำงานหรือสถานศึกษา ควรจะได้ร่วมกันปฏิบัติธรรม และจัดพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ สนทนาธรรม และเจริญภาวนาเพื่อเป็นการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ แจ่มใส อันจะเป็นมงคลในการดำเนินชีวิตต่อไปเรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก toptenthailand.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
-
ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย อธิบดีกรมอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มระชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง หรือ LMI และพันธมิตรของกลุ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (FLM) ในเมืองย่างกุ้ง,...by dogTech
-
มูลค่าการส่งออกรองเท้าจากเวียดนาม มายังไทย เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา โดยทะยานขึ้นจากระดับ 6.6 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2553 มาอยู่ที่ 25.87 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ข้อมูลจากกรมศุลกากรเวียดนาม แสดงให้เห็นว่า...by Editor Bow
-
สมาชิกสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (เอแบค) เสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอันเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะต่อกลุ่มผู้นําและรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก)...by Editor
-
ออสเตรเลีย มีแผนที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยไปยังกัมพูชาในปลายปีนี้ และจะมอบทุนช่วยเหลือให้กัมพูชา 35 ล้านดอลลาร์ หากกัมพูชายอมรับผู้ลี้ภัยดังกล่าว รัฐบาลออสเตรเลียเปิดเผยวันนี้ (26) สก็อต มอร์ริสัน...by Editor
เรื่องมาใหม่
คำฮิต