ลบ แก้ไข

สะพานมิตรภาพ 4 เชื่อมไทย-ลาว-จีน

สะพานมิตรภาพ 4 เชื่อมไทย
 เปิดสะพานมิตรภาพ 4 : เชื่อมโครงข่ายคมนาคมไทย-ลาว-จีน

     สะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ฝั่งไทยตั้งอยู่พื้นที่อ.เชียงของ จ.เชียงราย และฝั่งลาว เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีความยาวของเส้นทาง 11.6 กิโลเมตร ลักษณะโครงการประกอบด้วยงานหลัก 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ถนนฝั่งไทยเป็นถนนลาดยางขนาด 4 ช่องจราจร เขตทางกว้าง 60 เมตร ระยะทาง 5 กิโลเมตร ส่วนถนนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร เขตทางกว้าง 50 เมตร ระยะทาง 6 กิโลเมตร

     ส่วนที่ 2 สะพานข้ามแม่น้ำโขงเป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางเท้าทั้ง 2 ข้าง ความกว้างสะพานรวม 14.70 เมตร ความยาวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำโขง 480 เมตร และสะพานต่อเนื่องบนบกในประเทศไทยอีก 150 เมตร รวมทั้งสิ้น 630 เมตร มีตอม่อในแม่น้ำโขง 4 ตอม่อ ส่วนที่ 3 ด่านพรมแดนฝั่งไทยและฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งรวมพื้นที่สำหรับการตรวจปล่อยร่วมกัน ณ จุดเดียวในแต่ละประเทศตามหลักการตรวจร่วมจุดเดียว และส่วนที่ 4 จุดเปลี่ยนทิศทางการจราจรในฝั่งไทย ซึ่งอยู่ระหว่างด่านพรมแดนไทยกับสะพานข้ามแม่น้ำโขง โดยสะพานมิตรภาพ 4 สร้างเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2556

     โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ร่วมกับ ฯพณฯ บุน ยัง วอละจิต รองประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันพุทธที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา การนี้ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการมิตรภาพข้ามพรมแดนของกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ อาคารด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพ 4 ฝั่งไทย โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงาน พร้อมด้วยหน่วยงานจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน พ่อค้า ประชาชนและแขกผู้มีเกียรติ เฝ้ารอรับเสด็จและเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

     "สะพานมิตรภาพ 4 เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ลาวและจีนตอนใต้เข้าด้วยกัน ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรัฐบาลไทย รัฐบาลลาว รัฐบาลจีนร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชียร่วมดำเนินการมาตลอด โดยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 4 รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งรัฐบาลจีนเป็นผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงรับผิดชอบในการก่อสร้างในวงเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 1,570 ล้านบาท" นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าว

     ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนที่ถือว่ามีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงภูมิภาค ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศอีกทั้งมีตำแหน่งอยู่ใจกลางกลุ่มประเทศในอาเซียน มีความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้าที่ก้าวหน้าไปมาก ตลอดทั้งมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการในระดับที่สามารถแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

     ส่วนลาวเป็นอีกหนึ่งประเทศสมาชิกในอาเซียนที่มีศักยภาพสูง เพราะมีเขตแดนเชื่อมต่อกับจีนและหลายประเทศในภูมิภาคมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ ป่าไม้หรือพลังงาน อีกทั้งยังมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ จึงมีโอกาสพัฒนาประเทศได้มากทุกๆ ด้าน เมื่อไทย-ลาว ร่วมมือกันจะยิ่งมีศักยภาพทั้งเชิงภูมิศาสตร์จากการมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า จีน เวียดนาม กัมพูชาและมาเลเซีย

     นอกจากนี้ยังมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทรัพยากรมนุษย์ เงินทุน เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สำคัญทั้งสองประเทศอยู่ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงพม่า ไทย จีนและลาว และแนวตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงพม่า ไทย ลาวและเวียดนามภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีนตอนใต้ (ยูนนาน) ลาว พม่า ไทยและเวียดนาม ซึ่งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การลงทุน การบริการ และการเป็น “ประตูการค้า” ของอาเซียนเชื่อมโยงสู่จีนและอินเดีย

     ไทยและลาวยังมีนโยบายพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจชายแดนร่วมกันในลักษณะเมืองคู่แฝดภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างประเทศในภูมิภาค คือ กัมพูชา ลาว พม่า ไทยและเวียดนาม การรวมตัวกันอย่างใกล้ชิดผนวกกับการขยายความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความพร้อมของไทยและลาวให้มากขึ้น

     นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง บอกว่า สะพานมิตรภาพ 4 เชื่อมโยงจังหวัดเชียงราย-บ่อแก้ว-คุนหมิง ตามแนวเส้นทางสาย R3A เป็นโครงการหนึ่งในแผนพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจด้านเหนือเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ลาว และจีนเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยเสริมการค้าและการคมนาคมรวมถึงช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในสามประเทศข้างต้น นอกจากประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้แล้ว “สะพานมิตรภาพ 4” ยังมีส่วนช่วยเสริมการคมนาคมขนส่งภายในประเทศทั้งไทย-ลาว-จีน โดยเฉพาะทางภาคเหนือของลาว

     สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยและลาว ปัจจุบันมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่งประกอบด้วย สะพานมิตรภาพ (หนองคาย-เวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) และสะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) สะพานมิตรภาพทั้ง 4 แห่ง เป็นอีกปัจจัยในการเสริมสร้างศักยภาพไทย-ลาว ในอาเซียนและส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น



เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก thaizhong
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor Bow
ชม 4,623 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ