ลบ แก้ไข

ไม่ใช่แค่ไทย!!! การเมืองร้อนไปทั่วโลก

ไม่ใช่แค่ไทย!!! การเมือง

การเมืองไทยร้อนระอุขึ้นมาจากหลายปัจจัย สร้างโจทย์ให้คนในชาติได้ขบคิดหาทางออกของวิกฤติครั้งนี้ แต่ก็ไม่ใช่ประเทศเท่านั้น ที่เดินทางมาถึงทางตันของปัญหา ยังมีอีกหลายชาติทั่วโลก ที่มีความเหมือนความคล้ายกับไทย และนำไปสู่การชุมนุมของมวลชน ที่มีความรุนแรงแตกต่างกันไป

การประท้วงใน ประเทศไทย ร้อนแรงขึ้นมาหลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในชื่อกลุ่ม กปปส. ที่มีแกนนำหน้าฉาก คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากพรรคฝ่ายค้าน เป็นคนนำพามวลชนมาชุมนุมหลายจุดในกรุงเทพมหานคร และปิดสถานที่ราชการปิดถนนให้การจราจรเป็นอัมพาต เพื่อกดดันให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งลงจากตำแหน่ง

โดย กปปส. ประกาศหนทางรีเซ็ตระบอบการเมืองไทย หลายสำนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ รายงานเป็นแนวทางเดียวกันว่า กลุ่ม กปปส. มีการเคลื่อนไหวมานานแล้ว แต่เพิ่งมาจุดติดหลังรัฐบาลเพื่อไทย ผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ออกมาต่อต้าน จนนำไปสู่การยกระดับขับไล่รัฐบาลในที่สุด โดยตั้งแต่การเคลื่อนไหวในเดือนพฤศจิกายนในปลายปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 9 คน เป็นตำรวจ 2, ผู้เคลื่อนไหวจากกลุ่ม กปปส. 3 คน, ผู้เคลื่อนไหวจากกลุ่มนปช. 3 คน และผู้เสียชีวิตในรถบัสไม่ทราบฝ่าย 1 คน

ไม่ใช่แค่ไทย!!! การเมือง

ถัดมาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่มีการประท้วงและการชุมนุมทางการเมืองมาหลายครั้งอย่าง กัมพูชา ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นต้นเดือนกรกฎาคมปี 2556 และยังมีความเคลื่อนไหวมาถึงทุกวันนี้ หลังผู้นำฝ่ายค้านอย่างนายสม รังสี จากพรรคกู้ชาติกัมพูชา ประกาศต่อต้านพรรคประชาชนกัมพูชาของ สมเด็จ ฮุน เซน ที่ได้เป็นรัฐบาลสมัยที่ 5 ด้วยเหตุผลว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา พบความมิชอบหลายจุด ทั้งการโกงเลือกตั้ง การบิดเบือนผลการเลือกตั้ง รวมถึงประชาชนหลายคนไม่ได้ใช้สิทธิ์การเลือกตั้ง ซึ่งนายสม รังสี นำมวลชนเคลื่อนไหวในเมืองหลวงอย่างพนมเปญ เพื่อกดดันให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งใหม่ และแม้ว่ารัฐบาลจะเสนอการเจรจาต่อรองกับนายสม รังสี หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นผล โดยตลอดที่การเคลื่อนไหว ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังทหาร และตำรวจ ที่ใช้กำลังเข้าปราบจลาจล ทำให้ยอดประชาชนผู้เสียชีวิตตั้งแต่กรกฎาคม 56 ถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 7 ราย


อีกประเทศที่ถูกมองว่า มีลักษณะการประท้วงจากต้นตอและสาเหตุคล้ายกับไทยเป็นอย่างยิ่ง คือ การประท้วงในบังกลาเทศ

ตั้งแต่ขั้วฝ่ายค้านอย่างพรรค BNP ของบังกลาเทศ ประกาศไม่ลงสมัครเลือกตั้งในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายประเทศ ก็ยกระดับขึ้นมาตลอด หลังฝ่ายรัฐบาลที่นำโดย นางเชค คาเซียน่า ไม่ยอมลงจากตำแหน่ง ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน รวมถึงประกาศเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป แม้ประชาชนจะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด

ทำให้วันเลือกตั้งของบังกลาเทศเมื่อ 5 มกราคมที่ผ่านมา ถูกเรียกขานว่าเป็น "การเลือกตั้งเลือด" หลังคูหาเลือกตั้งกว่า 200 แห่งถูกเผา และผู้ประท้วงเสียชีวิตในช่วงการเลือกตั้งกว่า 100 คน จากการปะทะกับกองกำลังทหารและตำรวจ ซึ่งผลการเลือกตั้ง ก็เป็นไปตามคาดคือพรรคของนางเชค คาเซียน่า ชนะการเลือกตั้ง และฝ่ายค้านประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และกำลังเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่

ไม่ใช่แค่ไทย!!! การเมือง

วกกลับมาที่ประเทศข้างบ้านด้านตะวันตกของไทยอย่าง เมียนมาร์

การประท้วงยังคงก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ หลังประชาชนที่พร้อมใจสนับสนุน นางออง ซาน ซูจี ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการที่นำโดยนายเต็ง เส่ง เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในข้อกำหนดที่ว่าด้วย คู่สมรสและบุตรของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ต้องถือสัญชาติเมียนมาร์เท่านั้น ซึ่งจากรัฐธรรมนูญข้อดังกล่าว นับว่าเป็นการปิดประตูนางออง ซาน ซูจี ทุกบาน โดยกลุ่มผู้สนับสนุนยังคงเดินหน้ารวมตัวประท้วงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อนการเลือกตั้งในปี 2558 ที่ใกล้เข้ามาทุกที ด้วยความมุ่งหวังว่า การนำประเทศด้วยสุภาพสตรีผู้นี้ จะแก้ไขทุกปัญหาที่ฝังตัวในเมียนมาร์มานาน เช่น ความขัดแย้งทางศาสนา, การมีบทบาทของทหาร และการนำเมียนมาร์สู่ตลาดโลก


การเมืองร้อนแรง ไม่ได้มีแค่ในชาติกลุ่มเอเชียเท่านั้น ยังข้ามไปในประเทศโซนยุโรปอย่างอิตาลี กลุ่มผู้ประท้วง พิทช์ฟอร์ก ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่พร้อมใจกันเดินทางเข้ากรุงโรม เพื่อขับไล่รัฐบาลของนายเอนริโก้ เลตต้า และเรียกร้องการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลชุดนี้นอกจากจะไม่ฟังเสียงประชาชนแล้ว ยังปล้นประชาชนและทำลายชาติ ทำให้อิตาลีมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 12 ของประชากรทั้งประเทศ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่มียอดหนี้สูงเป็นอันดับสองของประเทศในแถบยูโรโซน


อีกประเทศที่มีมวลชนออกมาประท้วงล้มล้างรัฐบาล คือ ยูเครน

ชนวนเหตุของการประท้วงต่อเนื่องมานานกว่า 2 เดือนในกรุงเคียฟ เริ่มต้นจากนายวิคเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีของยูเครนที่บริหารประเทศมานาน 4 ปีแล้ว ได้ปฏิเสธที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับยุโรป ด้วยการยกเลิกการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป และหันไปทำข้อตกลงด้านเศรษฐกิจกับรัฐบาลมอสโกแทน สาเหตุก็เนื่องมาจากแรงกดดันของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นแหล่งเงินทุนและพลังงานอย่างรัสเซีย การชุมนุมครั้งใหญ่ที่จัตุรัสอินดิเพนเดนซ์กลางกรุงเคียฟ มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนหลายแสนคน ถูกเทียบว่ามากพอๆ กับการปฏิวัติสีส้ม ที่สนับสนุนประชาธิปไตยเมื่อปี 2547


ส่วนอีกประเทศที่มีการประท้วงทางการเมืองอย่างร้อนแรง ก็คือ อียิปต์
โดยประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่านต่อต้านนับล้าน ออกมาประท้วงการรัฐประหารประธานาธิบดีคนแรกของอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้ง หลังประเทศอียิปต์เลือกตั้งได้ประธานาธิบดีคนแรกตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็เกิดเสียงต่อต้าน นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเผด็จการ เล่นพรรคเล่นพวก และใช้กำลังรุนแรงในเหตุปะทะกับผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตและกลายเป็นวิกฤติทางการเมือง กองทัพอียิปต์จึงเสนอเงื่อนไขให้มอร์ซี ลาออกจากตำแหน่ง แต่อดีตประธานาธิบดี ยืนกรานปฏิเสธ จึงทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น เป็นที่มาของการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุน กลุ่มต่อต้าน และกองทัพ


ปิดท้ายที่ประเทศ อิรัก ที่ได้ชื่อว่า เริ่มต้นมาจากความพยายามแบ่งแยกนิกายสุหนี่และชีอะห์ สงครามศาสนานำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลและก่อการร้าย โดยนิกายสุหนี่และชีอะห์นั้น ถือเป็น 2 นิกายหลักของศาสนาอิสลาม โดยนิกายสุหนี่ จะมีประชากรทั่วโลกมากกว่านิกายชีอะห์ แต่ในประเทศอิรัก ประชากรกว่าร้อยละ 65 เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ ส่วนมุสลิมนิกายสุหนี่ มีเพียงร้อยละ 32 ประกอบไปด้วยชาวอาหรับ ชาวเคิร์ด และชาวเติร์ก ด้วยความเป็นเสียงส่วนน้อย จึงเป็นที่มาของการแบ่งแยกนิกาย ความเชื่อ และทัศนคติทางด้านการเมืองของคน 2 กลุ่ม

ชาวสุหนี่มองว่า ชาวชีอะห์นั้น คือเงาของสหรัฐอเมริกาที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับสุหนี่ที่เลือกข้างเผด็จการ เหตุการณ์บานปลายมากขึ้น จนเกิดเป็นสงครามอิรักในปี 2546 เมื่ออเมริกาเข้าไปมีส่วนร่วมในการกวาดล้างระบอบเผด็จการของ ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำชาวสุหนี่ขณะนั้น และมีการเลือกตั้งรัฐบาลชีอะห์ขึ้นมาบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตยในปี 2555 สงครามกลางเมืองระหว่างชาวมุสลิมทั้งสองนิกาย ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน มาจนถึงทุกวันนี้.



เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก ไทยรัฐ
 

Editor Bow
ชม 2,966 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ