
ประเทศมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนไทยที่มีความเจริญก้าวหน้าอยู่ในระดับแถวหน้าของ อาเซียน กำลังปรับตัวครั้งสำคัญ ในการผลักดันประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยใช้ฐานรากของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ มาเป็นจุดแข็งใน การผลักดันประเทศให้ก้าวหน้า ภายใต้เป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่มีความทะเยอทะยานสูงของรัฐบาล เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นชาติชั้นนำของอาเซียน และมีความร่ำรวยสูงทัดเทียมนานาชาติที่พัฒนาแล้ว เป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศที่รัฐบาลมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ จะสัมฤทธิ์ผลเป็นเลิศ ดังที่หมายมั่นไว้มากน้อยเพียงใด
จากผู้ผลิตวัตถุดิบ สู่ประเทศที่มีอุตสาหกรรมหลากหลาย
ประเทศมาเลเซียได้มีการปฏิรูปประเทศมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1970 จากเพียงเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบต่างๆ มาสู่ประเทศที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย โดยอุตสาหกรรมหลักของประเทศในปัจจุบัน ได้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตและแปรรูปน้ำมันปาล์มและยางพารา การผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์และเซมิคอนดักเตอร์ และการแปรรูปไม้ โดยอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สร้างรายได้เข้าประเทศในปี 2011 กว่า 35%
อุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยมาก คืออุตสาหกรรมด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศมาเลเซียในเชิงการสร้างรายได้ให้ประเทศ และมีสัดส่วนการสร้างรายได้ประชาชาติ (Gross National Income) ราวร้อยละ 8 โดยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม มีศักยภาพในการสร้างผลิตภาพสูง และมีความน่าสนใจในการศึกษารูปแบบเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เกิดจากรูปแบบการเกษตรที่เน้นสร้างผลิตผลสูง
ประเทศมาเลเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันราวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกพืชเมล็ดน้ำมัน (Oilseed) ทั่วโลกกว่า 254 ล้านเฮกเตอร์ทั่วโลก (หรือราว 1,590 ล้านไร่) แต่สามารถสร้างผลผลิตได้ราวร้อยละ 14 ของผลผลิตน้ำมันจากพืชทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศมาเลเซียในการพัฒนาการเกษตรให้ได้ผลิตผลต่อไร่สูง นอกจากนี้ มาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก ยังมีสองบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจปาล์มน้ำมัน ได้แก่ Sime Darby และ FELDA ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านปาล์มที่ใหญ่ที่สุดสองรายแรกของโลกด้วย
ความน่าสนใจของ FELDA คือการสร้างแหล่งปลูกปาล์มโดยที่เกษตรกรมีส่วนร่วมอย่างมาก FELDA เป็นของรัฐบาล และแรกเริ่มจัดตั้งในช่วงทศวรรษ 1960 โดยมีรูปแบบการดำเนินงานเป็นการจัดสรรเนื้อที่ทำกินให้แก่เกษตรกรที่มีรายได้น้อยและอาศัยอยู่ในชนบท จะได้มีเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หรือพืชยางพารา (ใช้เนื้อที่ราวร้อยละ 80 สำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน และร้อยละ 10 สำหรับปลูกพืชยางพารา) โดยเกษตรกรราว 400 – 450 ครอบครัว จะได้รับการจัดสรรให้อยู่ในแหล่งทำกินหนึ่งๆ (estate) โดยแต่ละครอบครัว จะได้รับเนื้อที่ราว 25 – 35 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก และได้รับเนื้อที่ราว 1.5 ไร่เพื่อใช้อยู่อาศัย ซึ่งบ้านได้ถูกสร้างโดย FELDA ไว้แล้ว โดยชุมชนที่อยู่อาศัย ได้มีการจัดวางระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบชลประทาน รวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาลไว้พร้อม ส่วนการดำเนินงานของชุมชนนั้น อยู่ในรูปแบบของสหกรณ์ที่มีเกษตรกรมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง โดยต้นทุนในการพัฒนาที่ดินและแปลงการเกษตรราวกึ่งหนึ่ง จะถูกจัดเก็บจากเกษตรกรเป็นระยะเวลา 15 ปีนับตั้งแต่จัดตั้ง
FELDA สนับสนุนให้เกษตรกรทำการเพาะปลูก และรับซื้อผลผลิตทั้งหมดไปแปรรูปในโรงงานของ FELDAเพื่อสกัดทำน้ำมันปาล์ม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ ด้วย โดยการรับซื้อผลผลิตดังกล่าวสร้างกระแสรายได้ที่ต่อเนื่องให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ FELDA ยังให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเกษตรกรในการเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และมีการใช้เครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต โดยเครื่องมือต่างๆ สามารถหาซื้อและใช้ร่วมกันในแหล่งทำกินได้ เนื่องจากแปลงเพาะปลูกมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะลงทุนในการซื้อเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ ทำให้แปลงเพาะปลูกของ FELDA สามารถสร้างผลิตผลปาล์มต่อไร่ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงได้
การจัดรูปแบบการทำการเกษตรของ FELDA มีความแตกต่างจากการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรอาจไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่พอ เพื่อลงทุนด้านเครื่องจักรกล และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรร่วมกัน ทำให้ผลิตผลปาล์มน้ำมันเฉลี่ยของ FELDA อยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศไทยราว 11% ในปี 2011 โดยผลผลิตไทยอยู่ที่ 2,876 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ FELDA สามารถสร้างผลผลิตได้ที่ 3,184 กิโลกรัมต่อไร่
อย่างไรก็ตาม ประเทศมาเลเซียมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนโฉมประเทศใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นชาติที่มีรายได้สูง
ถึงแม้อุตสาหกรรมหลักของประเทศมาเลเซียยังคงดำเนินไปได้ด้วยดี แต่อาจยังไม่เพียงพอต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการยกระดับประเทศ โดยรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศถึงเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และต้องการให้มาเลเซียจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้สูง (high-income nation) โดยเป้าหมายคือ ภายในปี 2020 ประเทศจะต้องมีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 15,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ธนาคารโลก (World Bank) กำหนดไว้สำหรับชาติที่มีรายได้ต่อหัวสูง ซึ่งหมายความว่า ประเทศมาเลเซียต้องมีอัตราการเติบโตของรายได้ประชาชาติกว่า 6% ต่อปี เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น
การเติบโตของรายได้ประชาชาติ 6% ต่อปีไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายดายนัก เนื่องจากในช่วงระหว่างปี 2001 – 2010 นั้น มาเลเซียมีอัตราการเติบโตของรายได้ประชาชาติต่อหัวเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี เท่ากับว่าจะต้องมีแผนการปรับปรุงประเทศครั้งใหญ่ เพื่อให้มีการเติบโตของรายได้ประชาชาติแบบก้าวกระโดด
รัฐบาลมาเลเซียประกาศแผนการปฏิรูปเพื่อผลักดันให้มาเลเซียประสบผลสำเร็จตามเป้า
รัฐบาลมาเลเซีย ประกาศในปี 2010 ถึงกรอบนโยบาย และแผนในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2020 โดยดำเนินการภายใต้โครงการหลัก 2 ด้านเพื่อปฏิรูปการบริหารจัดการประเทศ (Government Transformation Programme – GTP) และเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Transformation Programme – ETP)
โครงการปฏิรูปการบริหารจัดการประเทศ GTP มุ่งเน้นการปฏิรูปเร่งด่วน 7 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยตีกรอบขึ้นหลังจากที่ได้ฟังความเห็นจากประชาชน และหลายภาคส่วน ซึ่งความเร่งด่วนทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย การลดอาชญากรรม การต่อสู้กับคอร์รัปชัน การพัฒนาการศึกษา การยกระดับความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย การพัฒนาชนบท การพัฒนาระบบขนส่งในเมือง และการจัดการด้านค่าครองชีพ (cost of living) โดยในแต่ละด้าน จะมีการระบุชัดเจนถึงตัวชี้วัด (key indicators) เป้าหมาย และโครงการที่จะจัดทำขึ้น (initiatives) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่น การต่อสู้กับคอร์รัปชัน ซึ่งรัฐบาลพบปัญหาว่า 25% ของประชาชนมาเลเซีย คิดว่ารัฐไม่เอาจริงเอาจังกับการสู้กับคอร์รัปชัน นอกจากนั้น ทัศนคติของนานาชาติต่อการต่อสู้คอร์รัปชัน มีแนวโน้มถดถอย เห็นได้จากจัดลำดับของ CPI หรือ Corruption Perception Index ซึ่งมาเลเซีย ปรับถอยลงจากลำดับที่ 39 ในปี 2004 มาเป็นลำดับที่ 60 ในปี 2011 จากปัญหาดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น โดยในปี 2013 รัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนในหลายด้าน เช่น การพิจารณาสอบสวนและลงโทษคดีที่เกี่ยวกับคอร์รัปชันภายใน 1 ปี การพัฒนาระบบตรวจสอบการคอร์รัปชัน การจัดทำฐานข้อมูลสาธารณะเพื่อรายงานผู้กระทำผิดด้านคอร์รัปชัน (‘name and shame’ database) และการจัดทำมาตรการการป้องกันคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆ ภายใต้กรอบ GTP มุ่งเน้นการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลงานที่รวดเร็ว โดยมีประชาชนเป็นที่ตั้ง หรือที่เรียกว่า People First, Performance Now
ส่วนโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจ ETP เน้นพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้รายได้ประชาชาติเพิ่มสูงขึ้น โดยการระบุถึงความต้องการเร่งด่วนนั้น รัฐบาลได้ฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshops) และการทดลองเชิงปฏิบัติการ (laboratories) อย่างต่อเนื่อง จนสามารถระบุเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนา 12 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่นอุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงาน การผลิตน้ำมันปาล์ม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเงิน การค้าปลีกและค้าส่ง เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐยังทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อระบุถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ใน 60 ด้าน เช่น การดึงดูดให้บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติมาตั้งกิจการในเขตกัวลาลัมเปอร์ (Greater Kuala Lumpur and Klang Valley) การสำรวจแหล่งก๊าซและน้ำมันใหม่ การพัฒนาการผลิตจากแหล่งน้ำมันที่พบแล้ว การพัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่ การเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันและเพิ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำในประเทศ การลงทุนรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมระหว่างรัฐปีนังและประเทศสิงคโปร์ การเพิ่มระบบขนส่งมวลชนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ การจัดตั้งมาเลเซียเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม (Islamic finance) ในระดับโลก การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของร้านค้าปลีกรายย่อย เป็นต้น
จากโครงการ ETP ที่วางแผนไว้ทั้งหมด รัฐบาลได้มีการประมาณการว่า ธุรกิจใหม่ต่างๆ จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่มาเลเซียปีละ 5 พันล้านริงกิต (ราว 46 พันล้านบาท) และสร้างงานมากถึง 2.2 ล้านตำแหน่งภายในปี 2020 โดยการลงทุนในโครงการต่างๆ จะใช้แหล่งเงินทุนจากภาคเอกชนมากถึง ร้อยละ 92 ของทั้งหมด
นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซีย ได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารจัดการโครงการปฏิรูปประเทศ ดูแลการนำแผนงานไปใช้จริง และติดตามผลโดยเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานนี้มีชื่อว่า Performance Management and Delivery Unit (PEMANDU) ซึ่งอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นธุรกิจ (turnaround) ของสายการบินมาเลเซีย (Malaysia Airlines) มาแล้ว โดยในการติดตามผลนั้น ได้มีการจัดทำรายงานประจำปีออกแถลงสู่สาธารณะ เพื่อประกาศผลของดัชนีชี้วัดต่างๆ เทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่นการขยายตัวของเศรษฐกิจ การลงทุนภาคเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดตั้ง PEMANDU นั้น จะเน้นการผลักดันให้แผนการปฏิบัติงาน เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ภายใต้กรอบเงื่อนไขเวลาที่ประกาศไว้
เริ่มมองเห็นผลลัพธ์แล้ว ตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2010
หลากหลายโครงการได้เริ่มเห็นผลจากตัวเลขทางเศรษฐกิจและตัวชี้วัดสำคัญอื่น ที่รัฐบาลติดตามและให้ความสำคัญ ดังตัวอย่างเช่น
รายได้ประชาชาติที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศมาเลเซีย รับรู้รายได้สูงสุดที่ 207 พันล้านริงกิต (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ในปี 2012 และมีการขยายตัวสูงถึง 49% ในระยะเวลา 3 ปี
การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวสูงขึ้น และอัตราการขยายตัวต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.7 ต่อปีในช่วงปี 2000 – 2010 มาเป็น ร้อยละ 22 ในปี 2012
การบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ในปี 2012 ซึ่งการบริโภคภาคครัวเรือนมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ เนื่องจากมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม GDP ของประเทศ
การได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันระหว่างประเทศที่ดีขึ้น เช่น World Bank ได้ยกระดับอันดับประเทศที่น่าทำธุรกิจของมาเลเซียขึ้น จาก ลำดับที่ 18 ในปี 2012 มาเป็นลำดับที่ 12 ในปี 2013
จากผลดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจว่า มาเลเซียกำลังเดินทางไปในทิศทางที่ถูกต้อง ในการสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นชาติที่มีความร่ำรวยสูงภายในปี 2020 ประเทศมาเลเซีย จึงอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งให้ประเทศไทยได้ส่องกระจกมองดูตัวเอง ถึงก้าวถัดไปของเราในการพัฒนาประเทศ ว่าจะเดินไปในรูปแบบใด เพื่อยกระดับฐานะประเทศให้มีศักยภาพสูงมากขึ้นไปเรื่อยๆ เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านมาเลเซียของเรา ที่กำลังก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง
เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก thailandaec2015