ลบ แก้ไข

“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด

“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด


ภาพที่แอร์บัสเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ เป็น A400M ลำแรกของกองทัพอากาศมาเลเซีย ที่จะส่งมอบต้นปีหน้า เป็นหนึ่งในจำนวน 4 ลำ ที่เซ็นซื้อขายกันเมื่อ 7 ปีก่อน การส่งมอบเลื่อนมาจากกลาย ปี 2558 จะได้รับ 3 ลำ ส่วนลำสุดท้ายส่งปีถัดไป ปัจจุบันทัพฟ้ามาเลเซียมี C-130 "เฮอร์คิวลีส" อยู่แล้วจำนวน 15 ลำ แต่กำลังจะเป็นประเทศนอกกลุ่มยุโรป ที่จะได้เป็นเจ้าของเครื่องบินขนส่งลำเลียงขนาดใหญ่และทันสมัยรุ่นแรกสุดของแอร์บัส.


มาเลเซีย กำลังจะเป็นเจ้าแรกนอกค่ายยุโรปกับนาโต้ ที่จะได้เป็นเจ้าของเครื่องบินขนส่งลำเลียงทางทหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้งานได้อเนกประสงค์ที่บริษัทแอร์บัสผลิตออกมาเป็นรุ่นแรก และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้ ซึ่งกันเชื่อว่าหลายประเทศทั่วโลกจะนำเข้าประจำการแทน หรือเอาไปใช้เสริมเครื่องบินในตระกูล C-130 “เฮอร์คิวลิส” (Hercules) ที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงก่อน และ ระหว่างสงครามเวียดนาม 
       
       หลังจากดีเลย์การส่งมอบมาตั้งแต่ปี 2556 แอร์บัส ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ (Airbus Defence and Space) บริษัทผลิตอากาศยานสำหรับการกลาโหมของกลุ่มแอร์บัส ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายการประกอบ A400M “แอตลาส” (Atlas) ลำแรกของกองทัพอากาศมาเลเซีย และจะส่งมอบได้ต้นปี 2558 นี้ จากทั้งหมด 4 ลำ ที่เซ็นซื้อขายกันเมื่อ 7 ปีก่อน อีก 2 ลำ จะทยอยส่งให้ในปีเดียวกัน และลำสุดท้ายในปี 2559
       
       เมื่อเทียบกับ C-130J ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด และใหญ่ที่สุดของตระกูลเฮอร์คิวลิส A400M ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพ (ไอพ่น-ใบพัด) จำนวน 4 เครื่องยนต์เหมือนกัน แต่ขนาดใหญ่โตกว่า บินเร็วกว่า และประหยัดกว่า เมื่อคำนวณตามระยะทางกับน้ำหนักบรรทุก และมีคุณสมบัติโดดเด่นของ C-130J ที่ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) แห่งสหรัฐฯ อย่างครบครัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ใช้ทางวิ่งขึ้นลงที่สั้น และขึ้นลงได้บนเส้นทางวิ่งที่ขรุขระ ไม่ได้จัดเตรียมล่วงหน้า แต่แอตลาสก็จะต้องพิสูจน์ตัวเอง และผ่านกระบวนการพัฒนาปรับปรุงอีกมากมาย ไม่ต่างกับเฮอร์คิวลิส

 


 

   สำหรับมาเลเซียที่ซื้อเพียง 4 ลำ A400M คงจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วย C-130s ที่กองทัพอากาศมีประจำการ จำนวน 15 ลำ มากกว่าจะเข้าแทนที่เครื่องบินขนส่งลำเลียงของค่ายสหรัฐฯ และเมื่อมองภาพไกล เครื่องบินทหารรุ่นแรกของแอร์บัสคงจะต้องใช้เวลาอีกนานหลายทศวรรษ จึงจะสามารถแทนที่ C-130 เครื่องบินขนส่ง ใช้งานมากที่สุดในโลกปัจจุบัน และมีประจำการในกว่า 60 ประเทศ รวมทั้งในฝ่ายพลเรือน
       
       เครื่องบินตระกูลเฮอร์คิวลิส กรำศึกมาทั่วทุกมุมโลก ผ่านการพิสูจน์ ผ่านการพัฒนายกระดับมาหลายยุคตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา จนกลายเป็นอากาศยานขนส่งลำเลียงทั่วไปที่มีความลงตัวในทุกด้าน ใช้งานง่าย และคล่องตัวมากที่สุดในปัจจุบัน เพียงแต่ว่า A400M แอตลาส ทำให้เฮอร์คิวลิสเล็กลงเท่านั้นเอง
       
       แอรบัส ดีเฟนซ์ฯ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนักบินมาเลเซียกำลังฝึกอยู่ที่เมืองเซวิล (Seville) ในสเปน อันเป็นแหล่งประกอบ A400M ซึ่งรวมอยู่ในแพกเกจซื้่อขายที่เซ็นกันเมื่อปี 2550 มีมูลค่ารวม 3,500 ล้านริงกิต หรือประมาณ 925 ล้านดอลลาร์ ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปีโน้น ซึ่งนับเป็นการลงทุนอันมหาศาลยิ่ง สำหรับมาเลเซียที่มีงบประมาณกลาโหมปีละประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์

 

“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด
 

ภาพที่แอร์บัสเผยแพร่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เป็นการทดสอบขีดความสามารถของ A400M "แอตลาส" ในการเติมน้ำมันกลางอากาศให้ F/A-18 "ฮอร์เนต" ลำหนึ่ง เรียกได้ว่า "เข้าล็อก" พอดีกับมาเลเซียที่มี F/A-18 D อยู่ 1 ฝูง ถึงแม้ว่าจะมี C-130T ทำหน้าที่นี้อยู่แล้วก็ตาม.

   “แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด

แอร์บัส A400M ขึ้นจากสนามบินเลอบูเก ชานกรุงปารีส วันที่ 20 มิ.ย.2554 ในงานแอร์โชว์ เพื่อสาธิตต่อหน้านายนิโคลัส ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในช่วงนั้น เป็นการขึ้นบินครั้งเดียวในงาน เนื่องจากเครื่องยนต์มีปัญหา ยอดขายของ A400M ไม่ค่อยลื่นไหลเท่าที่ควร แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในภารกิจส่งกำลังบำรุงของหลายประเทศ แม้จะมี C-130 ใช้อยู่แล้วก็ตาม. -- Agence France Presse/Piere Verdy.


“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด

แผนภูมิเปรียบเทียบระหว่าง A400M กับ C-130J ด้านอัตราบรรทุก จำนวน "สินค้า" และ ระยะบินปฏิบัติการ.


“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด
 

เปรียบเทียบกับ C-130J, C-130-30 ซึ่งเป็นรุ่นยาวที่สุดและลำตัวกว้างสุดของ "ซูเปอร์เฮอร์คิวลีส" กับ A400M แต่ไม่ได้เปรียบเทียบกับ C-17 "โกบอลมาสเตอร์ III" ให้เห็น เอาไปเอามาสถานะทางการตลาดของเครื่องบินทหารค่ายแอร์บัสก็คือ ปัจจุบันตกอยู่ในวงล้อมระหว่าง C-130J และ C-17.



“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด

A400M ของกองทัพอากาศฝรั่งเศสเดือน ส.ค.2556 เป็นลำแรกที่แอร์บัสส่งมอบให้ลูกค้า.

“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด

ภาพที่บล็อกข่าวกลาโหมมาเลเซียทำขึ้น เน้นให้เห็นคุณสมบัติดีเด่นประการหนึ่ง ที่ A400M มีไม่ต่างกับ C-130 ก็คือ ใช้ทางวื่งขึ้นลงที่สั้น และ ขึ้นลงได้ บนทางวิ่งที่ไม่ต้องเตรียมอะไรล่วงหน้ามากมาย.

 

 แอร์บัสให้นิยาม A400M เป็นเครื่องบินขนส่งลำเลียงทางทหารระดับ “ฟูลไซส์” (Full Size) หรือ “ขนาดใหญ่เต็มรูป” ในขณะที่เครื่องบินในครอบครัวเฮอร์คิวลิส เป็นเพียงระดับกลาง หรือ Medium Size และเป้าหมายก็คือดึงตลาดส่วนนี้ไปจาก C-130J แต่สหรัฐฯ หรือจะหยุดนิ่ง นั่งดูค่ายยุโรปแย่งส่วนแบ่งที่ครอบครองมานานกว่า 6 ทศวรรษไปจนหมดสิ้น และตอนนี้ A400M ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ร้อนแรง เมื่อสหรัฐฯ ให้บริษัทโบอิ้งผลิต C-17 โกลบอลมาสเตอร์ 3 (Global Master III) ส่งออกได้ แม้ว่าจะยังเจาะจงขายให้เฉพาะบรรดาชาติพันธิมิตรใกล้ชิด กับประเทศสมาชิกนาโต้ก็ตาม
       
       ซี-17 โกลบอลมาสเตอร์ III เป็นเครื่องบินไอพ่น 4 เครื่องยนต์ ปีกหุบขนาดใหญ่ ที่มีประวัติการพัฒนามายาวนานกว่า 30 ปี และเริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงบัดนี้ทำเป็นเวอร์ขันต่างๆ ออกมากว่า 250 ลำ และกลายมาเป็นเครื่องบินขนส่งลำเลียงระยะไกลระดับ “จัดหนัก” ขนาดใหญ่โตกว่า A400M ในทุกมิติ ทำความเร็วสูงสุดได้เร็วกว่า บรรทุกได้มากกว่าเกือบเท่าตัว เป็นมวยคนละรุ่นกับ A400M ซึ่งสหรัฐฯ กับบริษัทโบอิ้ง ทิ้งไว้ให้เป็นคู่แข่งกับเฮอร์คิวลิส และ เปิดโอกาสให้ชาติพันธมิตรได้มีทางเลือกอีกทางหนึ่ง
ครื่องบินขนส่งลำเลียงระยะไกลที่มีขนาดใหญ่โต ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถบรรทุก “สินค้า” ขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งรวมทั้งรถบรรทุกหนักกับพวกยานเกราะต่างๆ หรือใช้ในภารกิจเสริมกำลังทหารคราวละมากๆ และต้องเดินทางไกล เช่น ในช่วงสงครามอิรัก ปัจจุบันเครื่องบินบรรทุกขนาดใหญ่ของฝ่ายทหาร ได้เข้าไปมีบาทบาทอย่างสูงในภารกิจด้านมนุษยธรรม รวมทั้งการช่วยเหลือกู้ภัย
       
       เมื่อครั้งเฮอริเคนคาทรินา (Katrina) พัดถล่มภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ C-17 เข้าไปมีบทบาทอย่างสูง ร่วมกับ บ.ขนส่งรุ่นอื่นๆ ของกองทัพ ในการช่วยเหลือกู้ภัยผู้ประสบเคราะห์ รวมทั้งกา่รเยียวยาคนเหล่านั้นในระยะต่อมาอีกด้วย และ A400M ก็มีความเป็นอากาศยานอเนกประสงค์ไม่ต่างกัน

       . 
“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด


C-17 บนรันเวย์ที่ฐานทัพอากาศบากราม ในอัฟกานิสถาน 30 ม.ค.2552 สหรัฐกับพันธมิตรที่ใกล้ชิดใช้มานานกว่า 20 ปี กรำศึกมาหลายสนาม มีประวัติการพัฒนามายาวนานกว่า 30 ปี ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐอนุญาตให้โบอิ้งผลิตส่งออกได้แล้ว ให้เป็นทางเลือกที่ใหญ่โตขึ้นไปอีกสำหรับ A400M ของค่ายยุโรป.


“แอตลาส” A400M เสือเหลืองเป็นรูปเป็นร่าง ปีหน้าแอร์บัสส่งให้ 3 ลำรวด

 เมื่อไซโคลนนากิส (Nargis) พัดถล่มแถบที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีในพม่า เดือน พ.ค.2551 สหรัฐฯ ส่งโกลบอลมาสเตอร์ III จำนวน 2 ลำ พร้อมเครื่องยังชีพ และอุปกรณ์ดำรงชีพเต็มลำ เตรียมพร้อมอยู่ในประเทศไทย อีก 2 ลำ สแตนด์บายอยู่ที่ฐานทัพ ในมลรัฐวอชิงตัน พร้อมเหินฟ้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปช่วยเหลือชาวพม่าที่ประสบภัย ซึ่งในขณะนั้นพบผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 100,000 คน แต่โชคร้ายอย่างยิ่ง รัฐบาลทหารในอดีตอนุญาตให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้อย่างจำกัด
       
       หน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศในสัปดาห์นี้ว่า บรูไนกำลังจะเป็นชาติแรกในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียนที่จะได้เป็นเจ้าของ “ซูเปอร์เฮร์คิวลิส” ซึ่งจะทำให้การขนส่งของกองทัพประเทศอาเซียนเล็กๆ นี้เปลี่ยนรูปโฉมไป และในวันนี้ มาเลเซียกำลังจะเป็นเจ้าแรกในกลุ่ม ที่จะได้เป็นเจ้าของ “แอตลาส”
       
       ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันกองทัพอากาศเสือเหลือง มี C-130 เวอร์ขันต่างๆ ประจำการรวมทั้งสิ้น 15 ลำ ในนั้นเป็น บ.ขนส่ง C-130H จำนวน 10 ลำ อีก 3 ลำ คือ C-130MP ออกแบบไปใช้งานบินตรวจการณ์น่านน้ำเป็นภารกิจหลัก เพราะนอกจากประเทศนี้จะตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ดินแดนอีกส่วนหนึ่งคือ รัฐซาบาห์ อยู่ไกลโพ้นถึงริมทะเลจีนใต้ แต่ทั้ง 3 ลำก็สามารถผันไปใช้เป็น บ.ขนส่งได้เช่นกัน รวมทั้งใช้ในภารกิจกระโดดร่มของกำลังรบด้วย อีก 1 ลำ คือ C-130T ออกแบบมาเป็น "แอร์แท็งเกอร์" หรือเครื่องบินสำหรับเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ สำหรับอากาศยานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องบินรบ
       
       ยังไม่ทราบในรายละเอียดว่า มาเลเซียสั่งประกอบ A400M ออกมา เพื่อใช้ในภารกิจจำเพาะใดๆ หรือไม่ แต่การทดสอบที่ผ่านมา โดยบริษัทผู้ผลิตได้พิสูจน์แล้วว่า “แอตลาส” สามารถทำทุกอย่างแทนเฮอร์คิวลิสได้ทั้งหมด เมื่อมีครบทั้ง 4 ลำ ก็จะทำให้กองทัพอากาศมาเลเซีย ล้ำหน้าเพื่อนบ้านในย่านเดียวกันไปข้างหน้าอีกก้าวใหญ่ๆ ทั้งในด้านการส่งกำลังบำรุง และการช่วยเหลือกู้ภัยในอนาคต. 

ขอบคุณที่มา : 
ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 2,595 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean