ลบ แก้ไข

กลยุทธ์การไปทํางานใน AEC


        อีกไม่นานนับจากนี้ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community : AEC) พร้อมกับเพื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ และเมื่อถึงเวลานั้นจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างสะดวก โดยเฉพาะแรงงานนักวิชาชีพ หรือแรงงานเชี่ยวชาญใน 8 สาขาวิชาชีพ ที่ได้มีข้อตกลงยอมรับร่วมกัน ในเรื่องคุณสมบัติหรือมาตรฐานวิชาชีพ (Mutual Recognition Arrangement : MRA) ไว้แล้ว

       การเตรียมความพร้อม ตลอดจนจัดวางกลยุทธ์ไว้ก่อน จะได้เปรียบเป็นอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทํางานในอาเซียนให้ประสบความสําเร็จ ประกอบด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆหลายด้าน ได้แก่ การประเมินตนเอง การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ การหางาน ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประเทศที่จะไปทํางาน และกลยุทธ์ในการทํางานให้ประสบความสําเร็จ

       กลยุทธ์แรกที่จะกล่าวถึง คือ การประเมิน "จุดอ่อน" และ "จุดแข็ง" ของตนเอง ถือเป็นกลยุทธ์ที่ทุกคนควรกระทําเป็นอันดับแรก การประเมินต้องตรงไปตรงมา ไม่ลําเอียงหรือมีอคติและจะต้องกระทําอย่างจริงจังและเป็นระบบ เพื่อให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง จุดแข็งที่มีอยู่แล้ว ก็ให้คงไว้และเพิ่มพูนให้มากขึ้นส่วนจุดอ่อนที่ค้นพบก็หาทางแก้ไข และ/หรือปรับปรุงให้มาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และพัฒนาให้เป็นจุดแข็งในที่สุด

      กลยุทธ์ต่อมา คือ การหางาน ซึ่งจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการทํางานแบบอิสระหรือ การทํางานแบบมีต้นสังกัด สําหรับการทํางานแบบอิสระ หมายถึง การทํางานที่มิได้ขึ้นตรง หรือมิได้สังกัด หรือมิใช่พนักงานประจําของหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทใดๆ

      แต่เป็นการรับทํางานให้โครงการ หรือหน่วยงานในต่างประเทศด้วยตนเอง ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาชีพ ดังนั้น สิ่งที่ต้องมีและจําเป็น อันดับแรกของช่องทางนี้คือ ความรู้ ความสามารถ ความชํานาญ และประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพนั้น เรียกได้ว่าต้องเชี่ยวชาญ และรู้จริงและยิ่งถ้ามีประสบการณ์ตรงกับตําแหน่งที่ต้องการ จะเป็นประโยชน์มากและมีโอกาสได้งานสูง

     สิ่งที่ต้องตระหนัก สําหรับการทํางานแบบอิสระ คือ ท่านจะต้องรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง
ทั้งหมด ดังนั้น การต่อรองผลประโยชน์และเงื่อนไขการทํางาน ค่าจ้าง การจ่ายเงิน ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ที่ผู้ว่าจ้างจัดหาและอํานวยความสะดวกให้จึงเป็นสิ่งจําเป็นเพื่อให้พอใจทุกฝ่าย จากนั้นควรทําสัญญา หรือข้อตกลง หรือบันทึกความเข้าใจ ให้ถูกต้องตรงกัน จะได้ไม่มีปัญหาในอนาคต

     สําหรับ การทํางานมีต้นสังกัด ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปบริษัท นิติบุคคล หรือหน่วยงาน กรณีนี้ท่านไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก เพราะผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด และมีการช่วยเหลือให้การสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อให้การทํางานสะดวกสบาย ราบรื่น แต่ท่านจะต้องถูกกฎ ระเบียบ ของบริษัทหรือหน่วยงานที่ว่าจ้าง เข้ามาควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนดไว้อีกประการหนึ่งค่าจ้างหรือผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าการทํางานแบบอิสระ แต่ก็แลกมาด้วยความมั่นคง และสวัสดิการที่ดีและแน่นอนกว่า

    ประการต่อมา คือ กลยุทธ์ในการเตรียมความพร้อม ทั้งความพร้อมส่วนบุคคลในด้านร่างกายและจิตใจ และความพร้อมของความรู้ความสามารถในการทํางาน

     ความพร้อมส่วนบุคคล จะต้องมีความพร้อมทั้งจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะจิตใจมีความสําคัญที่สุด กล่าวคือ ต้องมีความอยากจะไป ไม่ใช่ถูกบังคับ เพราะหากจิตใจไม่พร้อมหรือต่อต้านแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีความพร้อมด้านอื่นๆ ครบถ้วน ก็จะไปไม่รอดและล้มเหลวในที่สุด เมื่อจิตใจ พร้อมแล้ว อันดับต่อมาต้องมีความพร้อมทางร่างกาย กล่าวคือ ต้องมีร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์อายุไม่มากจนเกินไป หรือมีโรคประจําตัว หรือเจ็บป่วย

    อย่างไรก็ตามในเรื่องร่างกายนี้ใช่ว่าจะต้องสมบูรณ์และแข็งแรงไปทุกอย่าง จึงจะถือว่ามีความพร้อมในทางกลับกันเมื่อทราบว่าตัวเองมีปัญหาตรงไหนก็วางแผนแก้ไข รักษา ป้องกัน หรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า ควบคู่กับวางแผนประสานงานในกรณีฉุกเฉินไว้ด้วย นอกจากนี้ภาระรับผิดชอบต่อครอบครัวและอื่นๆ จะต้องได้รับการวางแผนบริหารจัดการอย่างดีจะได้ไม่เป็นกังวล

    ส่วนในเรื่องของความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในวิชาชีพนั้น จะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือคุณสมบัติที่กําหนดไว้ใน MRA ดังนั้น การหมั่นตรวจสอบ พัฒนา และเสริมสร้างความรู้ตลอดจนจัดหาใบรับรองประกอบวิชาชีพจากหน่วยงานกํากับดูแลวิชาชีพของประเทศแหล่งกําเนิด (ในที่นี้หมายถึงประเทศไทย) และประเทศในอาเซียนที่ไปทํางานจึงมีความสําคัญ

     นอกจากนี้ความรู้ทางภาษาก็มีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลที่สามารถใช้สื่อสารได้ทุกประเทศในอาเซียน ควบคู่ไปกับภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศดังนั้น ใครเก่งภาษาอังกฤษจะได้เปรียบ เนื่องจากการทํางานระดับนานาชาติมักกําหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการทํางาน

      กลยุทธ์ที่ไม่ควรมองข้ามอีกประการ คือ ความรู้พื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับประเทศที่จะไปทํางานได้แก่ ที่ตั้ง สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ศาสนา ประเพณีความเชื่อ การเมือง การปกครอง สกุลเงิน
ระบบจราจร ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์อินเทอร์เน็ต ฯลฯ และที่สําคัญได้แก่กฎหมาย รวมถึง ระเบียบในการทํางาน

      ที่ขาดไม่ได้คือ จะต้องทราบถึง "สิ่งที่พึงกระทํา" และ "สิ่งที่ไม่ควรทํา" ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อมูลในการเตรียมความพร้อมของเราในการไปทํางานประเทศนั้น

       กลยุทธ์ในการทํางานให้ประสบความสําเร็จ ถือเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด เพราะหากหางานได้และมีโอกาสได้ไปทํางานต่างประเทศ จะต้องทําให้ตลอดรอดฝั่งและประสบผลสําเร็จ เพื่อสร้างหรือเพิ่มพูนประสบการณ์ผลงานของตนเอง และบริษัทหรือหน่วยงานที่จ้างทํางาน ส่งผลให้มีงานทําอยู่เรื่อยๆ โดยขอแนะนํากลยุทธ์ในการทํางานในต่างประเทศให้ประสบความสําเร็จ ซึ่งได้รวบรวมขึ้นจากประสบการณ์การทํางานจริงในต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้นําไปปรับใช้ในการทํางานในอาเซียน ดังต่อไปนี้

      มีวินัยในการทํางาน ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และตรงต่อเวลา, ทํางานให้เต็มความสามารถ มีความรับผิดชอบสูง, มีทักษะในการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารการทํางาน หรือการบริหารตนเอง มีการวางแผนการทํางานอย่างดี, หาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ช่างสังเกต ช่างวิเคราะห์และนําข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียน, รักษาสุขภาพ หมั่นออกกําลังกาย ให้ร่างกายแข็งแรง รับประทานอาหารที่ดีและ พักผ่อนให้เต็มที่, ละเว้นอบายมุขและ สิ่งผิดกฎหมายทั้งปวง, ไม่ปล่อยให้ว่าง ควรหางานอดิเรกหรือสิ่งที่ชอบทําและทําจิตใจให้เบิกบาน แจ่มใส ตลอดเวลาไม่คิดมาก, มีความเมตตา กรุณา มีความอดทน อดกลั้น มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป และมีมนุษยสัมพันธ์ดี, มีทักษะในการนําเสนอหรือโน้มน้าวผู้อื่นในส่วน ที่เกี่ยวกับงาน และส่วนที่เกี่ยวกับตนเอง, มีสัญชาตญาณในการเอาตัวเองรอด หูตาไว และไม่นิ่งดูดาย

      กลยุทธ์การไปทํางานใน AEC ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสรุปจากประสบการณ์การทํางานจริงในต่างประเทศ ซึ่งสามารถนําไปประยุกต์ใช้กับการไปทํางานอื่น ๆ ได้ทั่วไป แต่ต้องมีการเพิ่มเติมปรับปรุง รายละเอียดบางเรื่องให้เหมาะสมกับประเทศ ประเภทงาน และวิชาชีพของผู้ที่จะไป

      อย่างไรก็ตาม การเตรียมใจ เตรียมตัว เตรียมความพร้อม ตลอดจนวางกลยุทธ์ไว้ก่อนจะทําให้ได้เปรียบ และต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่มีการแข่งขันสูงดังนั้น ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับตัวของท่านเอง 

    สิ่งควรรู้
 
     ปัจจุบันอาเซียนได้จัดทํา MRA ร่วมกันแล้ว 8 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ 1) สาขาวิชาชีพวิศวกรรม 2) สาขาวิชาชีพพยาบาล 3) สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม 4) สาขาวิชาชีพด้านการสํารวจ 5) สาขาวิชาชีพบัญชี 6) สาขาวิชาชีพแพทย์และ 7) สาขาวิชาชีพทันตแพทย์ 8) สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว

    ในอนาคตจะมีการทํา MRA ในสาขาวิชาชีพอื่น ๆตามมาอีกแต่ทั้งนี้ MRA แต่ละสาขาวิชาชีพล้วนมีการกําหนดคุณสมบัติวุฒิการศึกษา ความต้องการขั้นต่ํา ประสบการณ์ใบรับรองจากหน่วยงานกํากับดูแลวิชาชีพของประเทศแหล่งกําเนิด ฯลฯ รวมถึงต้องตรวจสอบคุณสมบัติความต้องการต่างๆ ของประเทศอาเซียนที่จะเคลื่อนย้ายแรงงานไปทํางานด้วยดังนั้น จึงแนะนําให้ผู้มีวิชาชีพทั้ง 8 สาขาข้างต้น ต้องตรวจสอบและศึกษารายละเอียดกับสถาบัน หรือหน่วยงานที่มีอํานาจกํากับดูแลด้านวิชาชีพนั้นๆเป็นการเฉพาะ

ขอบคุณที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 3,479 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ