ในลาวยังมีละองละมั่งเหลืออยู่เยอะ จับมือ WWF ตั้งเขตสงวนในป่าสะหวันนะเขต
ทางการแขวงสะหวันนะเขต ได้เซ็นความตกลงฉบับใหม่กับองค์การอนุรักษ์ธรรมชาติโลก (World Wildlife Fund) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่ออนุรักษ์ละองละมั่ง (Eld's Deer) ในป่าธรรมชาติ แขวงภาคกลางแห่งนี้ นับเป็นเฟสที่ 3 ติดต่อกันในความพยายาที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2545 โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าที่สวยงามชนิดนี้ ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในสถานะใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่งยวดในป่าธรรมชาติ
ตามแผนการของความตกลง 3 ปีฉบับใหม่ (2557-2559) นี้ ทางการท้องถิ่นได้ตกลงจัดสร้างบริเวณเขตป่าอนุรักษ์ ติดตามดูแลการดำรงชีวิตของละองละมั่ง โดยใช้กล้องถ่ายภาพอัตโนมัติที่ติดตั้งไว้เป็นเวลายาวนาน จัดกิจกรรมอนุรักษ์ และปกป้องป่าไม้ให้ยั่งยืน เพื่อให้เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละองละมั่ง รวมทั้งจัดชุดลาดตระเวน และรณรงค์ให้ความรู้แก่ราษฎรในท้องถิ่นให้เข้ามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และปกป้องสัตว์ป่าหวงห้าม ให้อยู่คู่กับป่าธรรมชาติในลาวตลอดไป หนังสือพิมพ์ “ลาวพัดทะนา” รายงาน
ความพยายามอนุรักษ์ละอองละมั่งในเขตป่าเมืองซนบูลี แขวงสะหวันนะเขต ดำเนินมาตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว หลังจากสำรวจพบประชากรจำนวนหนึ่งในป่าเขตเมือง (อำเภอ) ดังกล่าว แต่การเซ็นบันทึกความเข้าใจกับ WWF ฉบับแรก เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 สำหรับความร่วมมือช่วง 3 ปีแรก และต่อมา มีการเซ็นเอกสารคล้ายกันนี้ เพื่อความร่วมมือในเฟสที่ 2 ระหว่างปี 2553-2556 หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กล่าว
ตามรายงานของ WWF นอกจากจะพบละองละมั่ง (องมั่ง) ในป่าแขวงสะหวันนะเขตของลาวได้แล้ว ยังพบจำนวนเหลือไม่มากในป่า จ.พระวิหาร ในกัมพูชา ซึ่งคนท้องถิ่นที่นั่นเรียกว่า “โรเมียง” (Romieng)
“ละอง” เป็นชื่อเรียกสัตว์เพศผู้ ซึ่งเมื่อโตเต็มที่อาจจะสูง 110-130 เซนติเมตร มีเขาหลายแฉกงอโง้งออกไปด้านหน้า และดูสวยงาม ส่วน “ละมั่ง” เป็นชื่อเรียกสัตว์ชนิดเดียวกันเพศเมียที่ไม่มีเขา เมื่อยังเล็กละองละมั่งจะมีขุดสีขาวกระจายตามลำตัว แต่จุดนี้จะหายไปเมื่อเติบโตขึ้น บนใบหน้าของพวกนี้ยังมีขนสีดำขึ้นเป็นแนวปกคลุมส่วนหน้าผาก เป็นทางยาวไปถึงเหนือระดับตาทั้งคู่ ทำให้ดูเหมือนคิ้ว หลายคนจึงเรียกละองละมั่ง ในภาษาอังกฤษว่า Brow Antlered Deer เช่นเดียวกันกับชื่อ Eld's Deer [Panolia eldii]
ละองละมั่งเป็นสัตว์ท้องถิ่นในย่านเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามประวัติความเป็นมา ร.ท.เพอร์ซีย์ เอลด์ (Percy Eld) นายทหารอังกฤษ ผู้พบครั้งแรกในป่ารัฐมณีปุระ (Manipura) อินเดีย ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งถูกจัดให้เป็นละองละมั่งพันธุ์อินเดีย ต่อมา ได้พบอีกในป่าทางภาคตะวันออกของพม่า และจัดเป็นพันธุ์พม่า หรือตามิน (Thamin) ประชากรที่พบในไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมทั้งในมณฑลหยุนหนัน ของจีน เรียกเป็นพันธุ์สยาม
เป็นที่ทราบกันดีว่า ละองละะมั่งฝูงใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกป่าธรรมชาติ มีอยู่ที่สวนสัตว์ดุสิตของไทย และหลายปีมานี้ หลายหน่วยงานได้ร่วมกันศึกษา ขยายพันธุ์ และนำละองละมั่งจำนวนหลายสิบตัวกลับคืนสู่ป่าในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยมีการติดตามดูแล.
ขอบคุณที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

-
แท่นขุดเจาะของบริษัทปิโตรเวียดนามที่ท่าเรือแห่งหนึ่งของประเทศ ปิโตรเวียดนามเผยว่าบริษัทพบแหล่งก๊าซแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในเวียดนามนอกชายฝั่งภาคกลาง คาดว่าจะเริ่มส่งก๊าซเข้าโรงผลิตได้ในปี...by Editor
-
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีการจัดตั้ง คณะอนุกรรมการศูนย์อ้านวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธาน...by Editor
-
นางอองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยกล่าวกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่พรรมในนครย่างกุ้ง วันที่ 5 พ.ย.-- Agence France-Presse/Ye Aung Thu. อองซานซูจี หัวหน้าฝ่ายค้านพม่า กล่าววานนี้ (5)...by Editor
-
ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ของบริษัทอูรีดู กิจการด้านโทรคมนาคมที่เข้าลงทุนพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในพม่า ติดตั้งอยู่บนอาคารย่านการค้าของนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย....by Editor