ลบ แก้ไข

จีน-ญี่ปุ่น รุมจีบ เมียนมาร์ ท้องถิ่นกังวลทรัพยากรหดหาย

 


        ตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงและรวดเร็วโดยเฉพาะชาติที่เพิ่งเปิดประเทศอย่าง "เมียนมาร์" ซึ่งเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก เพราะเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งนักลงทุน ที่เข้าไปในเมียนมาร์มากที่สุด คือ จีน รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และไทยที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

       การแข่งขันรุกตลาดเมียนมาร์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากข้อตกลงมากมายระหว่างภาครัฐ อาทิจีนเพิ่มจํานวนทุนการศึกษาที่มีข้อตกลงร่วมรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนจากเมียนมาร์เข้ามาศึกษาต่อในจีนมากขึ้น ขณะที่เมียนมาร์ให้สัมปทานท่าเรือนาน 70 ปีเพื่อจูงใจญี่ปุ่นลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา เป็นต้น

      ล่าสุด ซินหัว รายงานถึงความสําเร็จของโครงการท่อส่งน้ํามันดิบจาก เมียนมาร์ไปยังจีน ที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการทดสอบการทํางานแล้ว หลังทั้งสองฝ่ายดําเนินการก่อสร้างโครงการมานาน 5 ปีซึ่งนายอูยาน ตัน (U Nyan Tun) รองประธานาธิบดีเมียนมาร์และ นายเหลียว หยงหย่วน ผู้จัดการทั่วไปบริษัท CNPC รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีน เข้าร่วมพิธีเปิดในนครย่างกุ้ง

       โดยท่อส่งน้ํามันที่มีความยาว 771 กิโลเมตร จะเชื่อมต่อจีนซึ่งเป็นผู้นําเข้าน้ํามันรายใหญ่ของโลก กับท่าเรือน้ําลึกในภาคตะวันตกของเมียนมาร์ฉะนั้น เมียนมาร์ถือเป็นส่วนสําคัญในความพยายามของแดนมังกรที่จะนําเข้าพลังงานที่มีความหลากหลาย และยังช่วยลดการพึ่งพาการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาที่มีโจรสลัดชุกชุมด้วย

       โครงการท่อส่งน้ํามันดิบจีน-เมียนมาร์เป็นโครงการร่วมทุนและก่อสร้างโดยบริษัท CNPC ของจีน และรัฐวิสาหกิจน้ํามันและก๊าซแห่งเมียนมาร์ (MOGE) ที่เริ่มโครงการในเดือน มิ.ย. 2553 และเสร็จสิ้นลงในปลายเดือน พ.ค. 2557 โดยทาง CNPC ถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 50.9% และ MOGE ถือครองส่วนที่เหลือ

        การร่วมทุนระหว่างจีนและเมียนมาร์ด้านพลังงาน ยังรวมถึงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอีกเส้นหนึ่งที่มีความยาวมากกว่า 2,500 กิโลเมตร จากภาคตะวันตกของเมียนมาร์ไปยังภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งก็เริ่มดําเนินการก่อสร้างเต็มรูปแบบตั้งแต่ ปี 2556 โดยถูกออกแบบให้สามารถ ส่งน้ํามันดิบได้ 22 ล้านตันต่อปีจากท่าเรือเกาะเมเด (Made) นอกจากนี้จีนยัง เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมูลค่าสูงถึง 7.8 พันล้านดอลลาร์เป็น ส่วนหนึ่งของโครงการท่อก๊าซ โดยได้ลงนามกับรัฐบาลเมียนมาร์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

        ในขณะที่ญี่ปุ่นพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบของการลงทุนในเมียนมาร์เช่นกัน โดยศูนย์เศรษฐกิจและการลงทุนญี่ปุ่น-เมียนมาร์ (JMEIC) และกรมพัฒนา SMEs ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเมียนมาร์ได้จัดงานเปิดโอกาสด้านธุรกิจที่นครย่างกุ้งในเดือนที่แล้ว เพื่อให้นักธุรกิจจากทั้งสองประเทศมีโอกาสร่วมเจรจา การค้าระหว่างกันมากขึ้น

       ภายในงานจะมุ่งเจรจาธุรกิจ 4 สาขา ได้แก่อุตสาหกรรมการผลิต, เทคโนโลยีสารสนเทศ, โลจิสติกส์และภาคบริการ ซึ่งได้รับการตอบรับจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ของญี่ปุ่นราว 12 บริษัท อาทิบริษัท มิตซูบิชิ เพนซิล จํากัด, บริษัท นิคคิฟรอน จํากัด และบริษัท เอ็นเคอเรจ เทคโนโลยีจํากัด

      "เมียนมาร์มีความพร้อมในเรื่องการจัดหาทรัพยากรธรรมชาติและด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่นจะสามารถช่วยพัฒนาและบริหารทรัพยากรเหล่านั้น อย่างคุ้มค่าที่สุด และเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท ญี่ปุ่นด้วย" โนริยูกิโยเนมุระ ผู้อํานวยการ JMEIC กล่าวกับเดอะโกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์

       นอกจากนี้กรมพัฒนา SMEs ของ เมียนมาร์ยังมุ่งความสําคัญไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาทักษะของแรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

      ทั้งนี้ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมเมียนมาร์แสดงความกังวลว่า ผู้ประกอบการ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในเมียนมาร์ส่วนใหญ่ยังคงกังวลเรื่องการถูกแย่งทรัพยากรธรรมชาติเพราะคือเป้าหมายหลักของบริษัทต่างชาติขณะนี้จํานวนของอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนกับ หน่วยงานรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีเพียง 40,000 บริษัท และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนมีถึง 60,000 บริษัท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทาธํ ุรกิจในอนาคตได้

       แม้ประเทศไทยยังได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะในแง่คุณภาพสินค้าที่เป็นที่ปลาบปลื้มของเมียนมาร์แต่หากทุนจากจีนและญี่ปุ่นยังคง "เปิดเกมรุก" อย่างหนักหน่วงเช่นนี้ต่อไป เป็นไปได้ว่าไทยอาจจะสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดเมียนมาร์อย่างรวดเร็ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 3,352 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean