ลบ แก้ไข

สิ่งแวดล้อม ไทย พม่า อาเซียน

 
 
หลากมิติเวทีทัศน์ : สิ่งแวดล้อม ไทย พม่า อาเซียน : โดย...ศรีสุวรรณ ควรขจร
 
     ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย คือความขัดแย้งระหว่างนักลงทุน หรือผู้ประกอบกิจการในภาคเอกชนซึ่งต้องการที่ดิน น้ำ พลังงาน ทรัพยากรธรณี กับประชาชนและชุมชนที่หวั่นเกรงว่าการดำเนินกิจการของฝ่ายแรกจะส่งผลเสียหายต่อสภาพแวดล้อมจนไม่อาจดำเนินวิถีชีวิตของตนอย่างเป็นปกติสุขได้อีก
 
     ความขัดแย้งนี้ซับซ้อนและแหลมคม ฝ่ายแรก มีองค์กรจัดตั้งที่เข้มแข็ง ได้ความชอบธรรมจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่รัฐได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจขยายตัวทำให้ชนชั้นกลางมีขนาดใหญ่ และความอยู่รอดของชนชั้นกลางคือการที่การดำเนินกิจการของฝ่ายนี้จะต้องมีเสถียรภาพ คือจะต้องสามารถนำทรัพยากรมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ในฝ่ายนี้ย่อมต้องรวมองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายที่ต้องใช้ที่ดิน น้ำ พลังงานอย่างมหาศาล หรือที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมโดยตรง เช่นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และพลังงาน องค์กรธุรกิจเหล่านี้มักมีผู้ร่วมถือหุ้นเป็นจำนวนมาก เท่ากับว่า ในฝ่ายนี้หมายรวมไปถึงธนาคาร บริษัทขนาดกลางและเล็ก ที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ตลอดจนชนชั้นกลาง ไปจนถึงนักเล่นหุ้นจำนวนมาก ที่ปรารถนาให้บริษัทที่ตนทำงานหรือมีหุ้น สามารถขยายการลงทุน สร้างผลกำไร ต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด
 
       ส่วน ฝ่ายหลัง แต่ก่อนอาจเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ไม่กี่แห่ง เช่น ชาวบ้านคลิตี้ ปากมูล เป็นต้น แต่ปัจจุบัน การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบเชิงนิเวศ-สังคม ของโครงการขนาดใหญ่ การเข้าถึงเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล และการขยายโครงข่ายการศึกษาเรียนรู้ในภาคประชาชน ทำให้ฝ่ายหลังตระหนักว่า การกระทำของฝ่ายแรกจะทำลายวิถีชีวิตของตนแบบถึงราก ฝ่ายนี้จึงมิใช่กลุ่มคนกระจัดกระจายที่ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นขบวนการท้องถิ่นที่หลากหลายทางอาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ-สังคม (รวมทั้งชนชั้นกลาง และในบางกรณีอาจรวมถึงผู้มีฐานะสูงท้องถิ่น) ที่เชื่อมโยงกว้างขวางด้วยข่าวสาร ความรู้ และความเห็นอกเห็นใจต่อกันและกัน
 
 
        ฝ่ายแรกดูยังไม่เข้าใจ (หรือไม่ยอมรับ) ว่า ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก หาใช่ปรากฏการณ์เฉพาะในสังคมไทย โดยมีกลุ่มเอ็นจีโอสายอนุรักษ์เกี่ยวข้อง ในระดับอาเซียน เป็นที่ชัดเจนว่า ปัญหานี้มิใช่ปัญหาเฉพาะของเพียงบางประเทศอาเซียน แต่อาเซียนทั้งมวลกำลังเผชิญปัญหานี้ ที่สามารถถ่วงรั้งมิให้รัฐบาลชาติอาเซียนสร้างประชาคมเศรษฐกิจได้ดังที่ตนวาดฝัน กล่าวคือ ปัญหานี้ยืดเยื้อมายาวนานในประเทศอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยดังที่กล่าวแล้ว กรณีลาว กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งพัฒนาไล่หลังมา ปัญหานี้กำลังทวีความแหลมคม เพียงแต่โลกภายนอก โดยเฉพาะคนไทย มองไม่ค่อยเห็นเพราะระบอบอำนาจนิยมที่กดทับภาคประชาชนที่ยังขาดประสบการณ์และหวาดกลัวผู้มีอำนาจ 
 
        กรณีพม่า ปัญหานี้เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่กำลังปะทุ กล่าวคือ พม่านั้นร่ำรวยทรัพยากร แต่ทรัพยากรส่วนมากอยู่ในดินแดนของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ยอมรับอำนาจบริหารของรัฐบาลชาติที่อยู่ในการครอบงำของคณะทหารผู้มีอำนาจ กระบวนการสันติภาพยังไม่ลุล่วง ในหลายพื้นที่ยังอยู่ในไฟสงคราม แต่โครงการขนาดใหญ่ที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีใครคาดคิด ด้วยอิทธิพลและผลประโยชน์ เสมือนการแย่งชิงทรัพยากรแบบซึ่งหน้า ทั้งโครงการที่ถูกอนุมัติโดยรัฐบาลทหารในอดีต และที่อนุมัติใหม่ อาทิ โครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้า ปิโตรเลียม นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก แปลงเกษตรขนาดใหญ่ เหมืองแร่ ฯลฯ ที่นำไปสู่การทำลายป่า แม่น้ำ แหล่งประมง ของชาวบ้าน และแย่งชิงพื้นที่การเกษตร และกำลังถูกต่อต้านจากมีการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐที่ตอบโต้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ 
 
         ปัญหาในพม่าจึงไม่เพียงไม่คลี่คลาย แต่กลับจะยิ่งรุนแรง การคัดค้านโครงการเขื่อนมิตโซน (โดยนักลงทุนจีน) และโครงการเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือทวาย (โดยนักลงทุนไทย) และอีกหลายโครงการ โดยขบวนการเคลื่อนของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น และคนท้องถิ่นในเมืองทวาย หรือขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ และกลุ่มชาติพันธุ์พม่าที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ เพื่อต่อต้านเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินทั้งหมดอย่างแข็งกร้าว ซึ่งถูกมองว่าเป็นการยกแม่น้ำสายนี้ให้จีนและไทย สงครามระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังกลุ่มชนชาติพันธุ์จะดำเนินต่อไป ความเกลียดชังต่างชาติอาจถึงระดับเลวร้าย ดังที่คนพม่าทั่วไปเกลียดชังชาวจีนที่ถูกมองว่า กำลังกอบโกยทรัพยากรบนความทุกข์ยากของพวกเขา
 
         พฤติกรรมของนักลงทุนสัญชาติไทยในโครงการเขื่อน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า รวมทั้งรัฐบาลไทยที่กำลังเป็นผู้ผลักดันโครงการเขตอุตสาหกรรมที่เมืองทวายเสียเอง ในลักษณะที่ไม่ใส่ใจ หรือไม่เข้าใจสภาพอันซับซ้อนในบริบทของพม่าข้างต้น ภาพลักษณ์ติดลบของคนไทยดังในหมู่คนลาวและกัมพูชา จึงมีโอกาสสูงที่จะซ้ำรอย ในที่สุด ประเทศไทยก็ไม่อาจหลีกหนีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่นั่นเอง อีกทั้งความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ภายในสังคมไทยเองก็จะรุนแรงขึ้น เพราะโครงการเหล่านี้จะทำลายฐานอาชีพของท้องถิ่นในดินแดนพม่า และคนเหล่านี้อาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอพยพเข้ามาหางานในประเทศไทย
 
         ย้อนกลับมามองไทย ในขณะนี้ ฝ่ายแรกไม่ควรชิงความได้เปรียบในสถานการณ์ไม่ปกติ เพราะกฎอัยการศึกไม่อาจกดฝ่ายหลังไว้ได้ตลอดไป ฝ่ายนักลงทุนไม่ควรฉวยโอกาส รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ทบทวนโครงการที่สำคัญที่จะก่อผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความขัดแย้ง หรืออย่างน้อยก็ควรระงับโครงการเหล่านี้ไว้ทั้งหมด เพื่อรอให้ปัญหาถูกแก้ไขด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ถูกบังคับใช้
 
 
---------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : สิ่งแวดล้อม ไทย พม่า อาเซียน : โดย...ศรีสุวรรณ ควรขจร)
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 2,473 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

  • เลขาธิการของสำนักงานความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี(เกาหลีใต้) ได้เตรียมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและผู้นำเกาหลีใต้ภายใต้การกำกับดูแลของเลขาธิการอาเซียน อ่านเพิ่มเติม AEC Tourism Connectivity...
    by dogTech
  • ส.อ.ท. เห็นด้วยปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ชี้ต้องทำในเวลาเหมาะสม VAT 7% ถือว่าถูกกว่าประเทศอื่น รับส่งออกปีนี้โตไม่ถึงเป้า ดีที่สุดโตได้แค่ 2%... นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) กล่าวว่า...
    by Editor
  • มีการแชร์การวิเคราะห์ ที่จี้แทงใจดำคนไทยเอามากๆ กับจุดอ่อนของคนไทย 10 ข้อที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุนโดยอ้างว่าเป็นข้อคิดเห็นของนายเซ็ทซึโอะ อิอุจิประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ...
    by Editor
  • องค์การการท่องเที่ยวระหว่างประเทศของสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงมาดริดของสเปน แถลงว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพิ่มขึ้น 4.6% เป็นประมาณ 517 ล้านคน...
    by Editor

สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ