ลบ แก้ไข

ลู่ทางประมงไทย ในทะเลอาเซียน


      อาเซียนหรือสมาคมประชาชาติ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำหนดจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ในวันสุดท้ายของปีนี้ คือวันที่ 31 ธันวาคม 2558
 
      ความฝันที่จะเห็น “อาเซียน” กลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานฝีมือ และเงินทุนได้อย่างเสรีขึ้น จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริงแค่ไหน อีกไม่นานคงได้รู้
 
      การใช้ประโยชน์และโอกาสจากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน ในแง่แหล่งทำการประมงและวัตถุดิบสัตว์น้ำที่สำคัญ เอื้อให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ และดึงดูดใจนักลงทุนทางด้านประมงจากทั่วโลกมากขึ้น กองประมงต่างประเทศ กรมประมง หนึ่งในหน่วยงานที่ได้ติดตามสถานการณ์และโอกาสการลงทุนในภาคธุรกิจประมงของประเทศสมาชิกอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ได้รวบรวมฐานข้อมูลมี คุณค่ามากมาย ต่อผู้ทำธุรกิจประมงในไทย กรณีต้องการจะไปลงทุนกับเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างราบรื่น
 
     มาลินี สมิทธิ์ฤทธี ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศและ ลักขณา บุญส่งศรีสกุล นักวิชาการประมงชำนาญการ จากหน่วยงานเดียวกัน ร่วมกันให้ข้อมูลตัวอย่างเกี่ยวกับลู่ทางในการทำธุรกิจประมงในบางประเทศ ภายหลังจากการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปีนี้
 
    ทั้งคู่ยกตัวอย่างกรณีของ อินโดนีเซีย ขึ้นเป็นประเทศแรกโดยบอกว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านการประมงมาก เพราะมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะน้อยใหญ่มากถึง 17,580 เกาะทำให้อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่สามารถจับสัตว์น้ำในธรรมชาติได้สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองมาจาก จีน และ เปรู
 
    แต่ในความโชคดีมหาศาล อินโดนีเซียก็มีข้อด้อย หรือ โชคไม่ดีนัก ในเรื่องที่ตั้งและสภาพภูมิประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผ่นดินไหว และน้ำท่วมรุนแรง ดังเห็นได้จากยามเมื่อเกิดมหาภัยสึนามิที่ผ่านมา มาลินีและลักขณาบอกว่า แต่การที่อินโดฯ มีทั้งปลาและสัตว์น้ำปริมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นปลาหน้าดิน หมึก ทูน่าครีบน้ำเงิน ปลาทูน่าท้องแถบ กุ้งมังกร รวมทั้งปลาผิวน้ำขนาดเล็ก
 
     โดยมีพื้นที่ทำการประมงปลาหน้าดินที่สำคัญอยู่ที่บริเวณหมู่เกาะนาทูน่า ในทะเลจีนใต้ และทะเลอาราฟูร่า และทำประมงปลาผิวน้ำขนาดใหญ่ ทางแถบบริเวณทะเลสุลาเวสี มหาสมุทรแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย ทำให้น่านน้ำของอินโดฯมีความเนื้อหอม น่าเข้าไปจับปลามากกว่าประเทศใดในอาเซียน
 
     นอกจากการจับปลาในธรรมชาติ อินโดนีเซียยังมี สาหร่ายทะเล และผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญเป็นตัวชูโรง ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเลี้ยงปลาเก๋า ปลากะพงขาว กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ และปลาน้ำจืด จำพวกปลานิล ปลาไน ปลาดุก ปลาสวาย ปลาแรด ปลานวลจันทร์ เป็นต้น โดยเฉพาะสาหร่ายทะเล เป็นผลผลิตสำคัญที่อินโดนีเซีย สามารถผลิตได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะน่านน้ำมีคุณภาพน้ำทะเลที่ดี เหมาะกับการเติบโตของสาหร่ายทะเล อินโดนีเซียจึงมีอุตสาหกรรมสาหร่ายทะเล ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งผลผลิตส่วนใหญ่ออกขายไปต่างประเทศ
 
    “นอกจากจะเป็นเบอร์ 1 ของโลกในเรื่องสาหร่ายทะเล อินโดฯยังเป็นผู้เพาะเลี้ยงปลาเก๋าเพื่อส่งออกรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขานิยมเลี้ยงในกระชัง แบบทุ่นลอย ทางแถบ Lampung, Bali และ East Java ผลผลิตปลาเก๋าส่วนใหญ่จะส่งขายให้จีนและ ฮ่องกง มีเรือจากจีนมารับซื้อถึงที่ ปลาเก๋าขนาดหนักตัวละ 650 กรัม มีราคาถึงกิโลกรัมละ 600-1,500 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด”
 
     ผอ.มาลินีบอกว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นแหล่งทำการประมงที่สำคัญที่สุดของกองเรือประมงไทย โดยก่อนปี 2549 เรือประมงไทยสามารถเข้าไปทำประมงในน่านน้ำอินโดฯได้ภายใต้ระบบ การให้ใบอนุญาต และ การร่วมทุน แต่หลังจากเดือนกรกฎาคม 2549 รัฐบาลอินโดฯ กำหนดนโยบายใหม่ ยกเลิกระบบการให้ใบอนุญาตหรือตั๋วจับปลาแก่เรือประมงต่างชาติ กำหนดให้เรือประมงต่างชาติที่ประสงค์จะเข้าไปทำประมงในน่านน้ำอินโดฯ ต้องกระทำภายใต้การร่วมทุน และการให้เช่าเรือเท่านั้น
 
      ทุกวันนี้บริษัทเรือประมงจากไทย ที่ต้องการจะเข้าไปจับปลาอย่างถูกต้องที่อินโดนีเซีย จึงต้องใช้วิธีจดทะเบียนร่วมทุนกับผู้ประกอบการชาวอินโดฯ โดยเสนอโครงการร่วมทุนให้ทางกรมประมงของอินโดนีเซียอนุมัติ รวมทั้งมีข้อกำหนดว่าภายใน 2 ปี บริษัทร่วมทุนจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมประมงบนฝั่งไปด้วย  ด้วยเหตุนี้ ทั้งมาลินีและลักขณาจึงแนะนำว่า สำหรับคนไทยที่ประสงค์จะเข้าไปจับปลาที่อินโดนีเซีย มีข้อต้องพิจารณาหลายอย่าง เป็นต้นว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้กฎระเบียบ ทั้งของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ที่บังคับใช้กับนักลงทุนต่างชาติ เช่น หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้แรงงานท้องถิ่นของอินโดนีเซีย การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับแรงงานชาวอินโดฯ
 
    “กฎหมายแรงงานของอินโดนีเซียเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานชาวอินโดฯเป็นอย่างมาก เช่น ถ้ามีการไล่ออกแรงงานที่มีอายุการทำงานมากกว่า 10 ปี นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยถึง 14 เดือน นักลงทุนจึงไม่ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นค่าจ้างราคาถูก แต่ควรคำนึงถึงรายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายกำหนดประกอบกัน”  ลักขณาเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ความแตกต่างของตลาดสินค้าประมงในอินโดนีเซีย ซึ่งแบ่งเป็นตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผู้ที่คิดจะเข้าไปลงทุนหลังจากเปิดเออีซีแล้วต้องคำนึง ก็คือ
 
     ตลาดประมงในประเทศ นักลงทุนต้องเข้าไปทำธุรกิจแข่งกับผู้ประกอบการท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรกับผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วยจึงจะเหมาะสมส่วนการเข้าไปลงทุนเพื่อการแปรรูปและส่งออก มีเงื่อนไขที่ชัดเจนต้องจ้างแรงงานท้องถิ่นและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เขาด้วย จึงจะไม่เกิดความขัดแย้งกับท้องถิ่นนั้น
 
     อีกข้อพึงระวังถัดมาที่สำคัญก็คือ การสร้างสัมพันธ์ที่ดีแก่ชุมชน ถ้าชุมชนที่อินโดฯเห็นว่าบริษัทต่างชาติเข้าไปใช้ประโยชน์จากชุมชนมากกว่าให้ประโยชน์ สุดท้ายแล้วบริษัทต่างชาติแห่งนั้น จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นต่อไป  ดังนั้น หากนักลงทุนไทยคิดจะไปทำธุรกิจที่อินโดนีเซียควรดำเนินธุรกิจในลักษณะของ ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR)
 
      ข้อคำนึงสุดท้าย ต้องอย่าลืมว่าโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียยังไม่เอื้อต่อการลงทุน นอกจากนี้ อินโดฯยังมีระเบียบกำหนดให้สัตว์น้ำที่จับได้ต้องขายให้แก่ห้องเย็นของท้องถิ่นส่วนหนึ่งก่อน จึงจะอนุญาตให้ส่งออกส่วนที่เหลือได้ ดังนั้น การลงทุนสร้างห้องเย็นเพื่อรักษาคุณภาพของสัตว์น้ำ ที่อินโดนีเซีย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นักลงทุนต้องพิจารณา.

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th
 

Editor
ชม 2,293 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean