ลบ แก้ไข

นร.เชียงรายคว้ารางวัลยอดแชมป์ ประกวดวิทย์ฯที่สหรัฐ



นักเรียนเด็กไทยจากเชียงรายสร้างชื่อทั่วโลก ความสามารถสุดยอดเยี่ยม คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา แถมยังคว้าสุดยอดแชมป์จากผลงาน “การผลิตเส้นใยไหมแบบใหม่” ซิวเงินรางวัล 1 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังได้อีก 4 รางวัลสำคัญ

เด็กไทยความสามารถไม่แพ้เด็กที่ไหนในโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกครั้ง ด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก ทั้งนี้ ข่าวดีของเด็กไทยรายนี้ นางทิพาพร ลัมปะเสนีย์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะหัวหน้าคณะนักเรียนไทย ที่เข้าแข่งขันการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ว่า สมาคมวิทยาศาสตร์ฯร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งนักเรียนไทยที่เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก อินเทล ไอเซฟ 2015 ครั้งที่ 66 (The Intel International Science and Engineering Fair) (Intel ISEF) ที่เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10-16 พ.ค. รวม 3 คนคือ นายนัทธพงศ์ เชื้อศิริถาวร นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนดำรงค์ราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงรายและนายธนานันท์ หิรัณย์วาณิชากรกับ น.ส.สุทธิลักษณ์ รักดี นักเรียนโรงเรียนเดียวกัน การแข่งขันดังกล่าว ถือเป็นการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐฯ มีตัวแทนนักเรียนจาก 78 ประเทศทั่วโลก กว่า 1,700 คน ลงชิงชัยใน 15 สาขา เช่น วิศวกรรม พืชวิทยา สัตว์วิทยา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พลังงานและการขนส่ง เป็นต้น


 

นางทิพาพรกล่าวต่อว่า ปรากฏว่า ทีมของนายนัทธพงศ์ เชื้อศิริถาวร คว้ารางวัลชนะเลิศจากสาขาสัตวศาสตร์ (First Place Grand Award in Animal Sciences Best of Category in Animal Sciences) จากผลงานการศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหม (A New Method of Silk Sheath Production Developed from Observation of Spinning Behavior of Silkworms) และยังคว้ารางวัล Best of Category in Animal Sciences ซึ่งเป็นการนำผู้ชนะการแข่งขันทั้ง 15 สาขามาแข่งขันกันอีกรอบเพื่อหาที่สุดของผู้ชนะอีก 1 รางวัล ทั้งยังได้รับรางวัล Special Award The Scientiflc Research Society of Sigma Xi จาก Sigma Science ซึ่งเป็นองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศสหรัฐฯ อีกหนึ่งรางวัลรวมเป็น 3 รางวัล ได้รับเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 10,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 340,000 บาท ถือเป็นครั้งแรกที่นักเรียนไทยได้ถึง 3 รางวัลยอดเยี่ยม นับตั้งแต่เข้าร่วมแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2539

อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า นักเรียนไทยที่เข้าแข่งขันยังได้อีก 4 รางวัลคือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากโครงงาน Bio-based Packaging from Lotus จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากโครงงานการคัดแปลงโครงสร้าง Nano Membrane Compact โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาพฤกษศาสตร์ จากโครงงานผลของสารสกัดหยาบ จากหญ้าคาที่มีต่ออัตราการรอดชีวิตและอัตราการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและผลกระทบต่อแมลงตัวห้ำไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ของโรงเรียนสาธิต ม.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 สาขาพฤกษศาสตร์ จากโครงงานการพัฒนาสารยึดติดกล้ากล้วยไม้จากยางผลกาฝาก ของโรงเรียนดำรงค์สงเคราะห์ จ.เชียงราย



นายนัทธพงศ์ ตัวแทนทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันให้สัมภาษณ์ว่า ผลงานที่ชนะเลิศคือการศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหม เป็นการผลิตเส้นใยไหมจากตัวหนอนไหมแบบใหม่ โดยไม่ต้องฆ่าหนอนไหมเหมือนกับวิธีการแบบเดิมที่ต้องนำหนอนไหมไปต้ม เพื่อเอาเส้นใยไหมแถมยังมีต้นทุนต่ำ โดยวิธีเอาเส้นใยไหมแบบใหม่ จะนำหนอนไหมวัย 5 หรืออายุประมาณ 3 สัปดาห์ จำนวน 60 ตัวมาเลี้ยงในแผ่นเฟรม ทำจากโฟม ขนาด 20 คูณ 30 เซนติเมตร ที่มีลักษณะราบเรียบ หนอนไหมจะสร้างรังและพ่นใยเป็นแผ่นไหมนาน 36 ชั่วโมง พบว่าคุณภาพเส้นไหมมีการกระจายตัวของเส้นไหมสม่ำเสมอมากที่สุด ส่วนหนอนไหมเมื่อให้เส้นใยครบ 36 ชั่วโมง จะกลายสภาพเป็นดักแด้ก็จะนำดักแด้ไปเก็บในกล่องปลอดเชื้อก่อน ที่จะปล่อยให้กลายเป็นผีเสื้อต่อไป ทั้งนี้ ก่อนไปประกวดได้นำไปทดลองในโรงเรือน ใช้หนอนไหมจำนวน 2,400 ตัว ปรากฏว่าได้เส้นไหม 1 กิโลกรัม ให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าการผลิตเส้นไหมแบบเดิมที่นำหนอนไหมไปไว้ในจ่อที่เปรียบเสมือนบ้านของหนอนไหม เพื่อให้หนอนไหมพ่นใยรอบตัวจากนั้นจึงนำไปต้มเพื่อดึงเป็นเส้นหรือสาวไหมถึง 1,980 บาท



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/499886

 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 1,981 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ