ลบ แก้ไข

เปิดปิดเทอมมหาวิทยาลัยตามอาเซียน เรื่องร้อนๆ ของ สกอ.และ ทปอ. โดย สุพจน์ เอี้ยงกุญชร

         เปิดปิดเทอมมหาวิทยาลัยตา

         ก่อนที่ผู้เขียนจะเขียนบทความเรื่อง พอหรือยังมหาวิทยาลัยไทย? กับการปิดเปิดเทอมตามอาเซียน ที่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ไปแล้วนั้น ผู้เขียนได้เคยเข้าไปให้ความเห็น (Comment) ในหน้าเฟซบุ๊ก (Facebook) หนึ่งที่ได้โพสต์ (Post) เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีคนนับร้อยเข้ามาคลิกไลค์ (Like) ให้กับความเห็นของผู้เขียน และในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ผู้เขียนนำเสนอบทความดังกล่าวนี้ ก็ปรากฏว่าได้มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังโดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยผ่านทางหน้าเฟซบุ๊ก (Change.org) ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกเฟซบุ๊กลงชื่อเข้าร่วมรณรงค์ด้วยแล้วนับหมื่นคน และเมื่อบทความที่ผู้เขียนนำเสนอได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์มติชนแล้วก็ยังปรากฏว่า บทความดังกล่าวถูกลิงก์ (Link) ไปยังเว็บไซต์ (Website) อื่นๆ อีกนับร้อยเว็บไซต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่องการปิดเปิดเทอมตามอาเซียนของมหาวิทยาลัยไทยนั้น กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนที่เกี่ยวข้องในสังคมอย่างกว้างขวาง 
 
       ล่าสุดได้มีผู้นำเสนอเรื่องนี้เป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เพื่อพิจารณาทบทวนแล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาในคราวประชุม ปอมท.ครั้งที่ 5/2558 ที่จะจัดประชุมขึ้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค. 2558 นี้
 
       ซึ่งผลการพิจารณาของ ปอมท.จะเป็นเช่นไรคงทราบผลได้ในวันที่ 30 พ.ค. ศกนี้ 
 
       ณเวลานี้ ยังไม่ทราบว่าทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้รับทราบความเคลื่อนไหวเรื่องนี้บ้างหรือยัง และจะตระหนักในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะทั้งสององค์กรนี้คือต้นคิดในการเปลี่ยนแปลงเวลาปิดเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียน หากทั้งสององค์กรนี้ไม่ตระหนักและเตรียมรับมือในเรื่องนี้ไว้ให้ดี หากมติของที่ประชุม 
 
        ปอมท.สอดคล้องกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับ สกอ.และ ทปอ.อยู่แล้ว เรื่องนี้ก็อาจกลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาและอาจจะแก้ไขปัญหาได้ไม่ทันเหตุการณ์ ทั้ง สกอ.และ ทปอ.ก็อาจจะตกเป็นจำเลยของสังคมได้
 
         อันที่จริงตลอดปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดและปิดเทอมของมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียนนั้น ทาง สกอ.ก็น่าจะทราบดีถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นและน่าจะหาทางออกไว้แล้ว แต่เนื่องจากทาง สกอ.ไม่เคยมีการแถลงหรือกล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด คล้ายกับไม่เห็นปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นหรือเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย หลายฝ่าย (โดยเฉพาะอาจารย์และนักศึกษา) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจึงต้องมีการแสดงออกดังกล่าว 
 
         ขณะนี้การสอบปลายภาคชนิดเหงื่อไหลไคลย้อยของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกำลังจะเสร็จสิ้นลงแล้ว หากขณะนี้ใครมีลูกหลานเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ คงทราบกันดีว่า บุตรหลานของท่านมีสภาพเป็นเช่นไร ทั้งระหว่างที่เรียนมาตลอดเทอมที่สองในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน และเรื่อยมาจนถึงการสอบปลายภาคในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ มีใครไม่รู้สึกอะไรบ้าง เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยต้องรู้สึกถึงความยากลำบากไม่มากก็น้อย แต่จะเดือดร้อนมากมายถึงขั้นต้องออกมาโวยวายให้เปลี่ยนเวลาปิดเปิดเทอมกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่ คงต้องคอยดูกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ได้มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแล้วดังที่กล่าวข้างต้น 
 
         เรื่องการปิดเปิดเทอมตามอาเซียนนี้ ดูเหมือนต้นคิดจะมาจากผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ และ ทปอ.ได้นำมาพิจารณาและมีมตินำเสนอต่อ สกอ. ซึ่ง สกอ.ก็ให้ความเห็นชอบและดำเนินการโดยไม่เคยสอบถามหรือสำรวจความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรง นับว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของ สกอ.เอง เพราะ ทปอ.นั้นเป็นแค่ตัวแทนฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทปอ.ไม่อาจเป็นตัวแทนของทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะความเห็นในส่วนของอาจารย์ในแต่ละมหาวิทยาลัย 
 
          ถ้า สกอ.มีความรอบคอบสอบถามหรือสำรวจความเห็นเรื่องนี้อย่างรอบด้านก่อนก็คงจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในวันนี้ 
 
          ถึงตรงนี้คงไม่ต้องย้ำถึงความไม่เหมาะสมของการปิดเปิดเทอมตามอาเซียนอีกแล้ว (ได้กล่าวไว้แล้วในบทความเรื่อง พอหรือยังมหาวิทยาลัยไทยฯ) อีกทั้งผลกระทบของการปิดเปิดเทอมตามอาเซียนก็ได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งไม่ว่าทาง สกอ.จะคิดเห็นอย่างไรก็แล้วแต่ คงต้องให้ทุกฝ่ายที่เห็นดีเห็นงามกับการปิดเปิดเทอมตามอาเซียน (โดยเฉพาะ ทปอ.) รีบออกมาให้เหตุผลสนับสนุนสิ่งที่คาดหวังไว้ หรือชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยับยั้งการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ก่อนที่เรื่องนี้จะทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้นจนหาข้อยุติไม่ได้
 
          เรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ หากการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง และเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากจะต้องมีความยากลำบากหรือการสูญเสียบ้าง ทุกฝ่ายก็ควรต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริงอย่างชัดเจน ถึงจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ควรเปลี่ยนกลับคืนได้ ไม่ควรปล่อยให้เลยตามเลยเหมือนปัญหาหลายๆ เรื่องในวงการศึกษาไทยที่ถูกปล่อยเรื้อรังไว้จนยากจะแก้ไขในตอนนี้ 
 
          สภาพอากาศร้อนสุดสุดกำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เรื่องการปิดเปิดเทอมมหาวิทยาลัยตามอาเซียนกำลังร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ เหมือนพายุฝนที่กำลังตั้งเค้าตามมาเยี่ยงฤดูฝนที่จะเข้ามาแทนที่ฤดูร้อนนั่นเอง หาก สกอ.ไม่ตระหนักในเรื่องนี้ ไม่รีบหาทางแก้ไขปัญหา ก็เป็นที่น่าหวั่นใจว่า สกอ.จะผ่านสถานการณ์นี้ไปสู่ฟ้าหลังฝนได้หรือไม่ (หรือ สกอ.จะทดสอบความอดทนของนักศึกษาและอาจารย์ต่อไปอีก)

        ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 2,492 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ