Social Media หัวใจสำคัญของครอบครัวแนวใหม่ในอาเซียน



ความเจริญเติบโตในประเทศอาเซียนได้เปลี่ยนจากครอบครัวขยาย (ครอบครัวใหญ่) ลดลงเป็นครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น ตามหลักปรัชญาsei-katsu-sha(เซคัทซึชะ) ที่บอกว่า การศึกษาให้เข้าใจถึงความต้องการและค่านิยมของผู้ดำเนินชีวิตแต่ละคน เพื่อสร้างสรรค์แนวทางใหม่ที่ก่อให้เกิดความสุขกับบุคคลนั้น ๆ โดยการแบ่งแยกออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยวนั้น แต่ละครอบครัวจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันผ่านเทคโนโลยี เป็นการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับครอบครัว เรียกว่า ครอบครัวเชื่อมต่อ

เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นสิ่งเชื่อมโยงสำคัญ โดยแต่ละครอบครัวจะมีสังคมออนไลน์ไว้ติดต่อสื่อสารกัน เป็นการลดความเป็นส่วนตัวและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันได้แม้อยู่ห่างไกล สามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่

1. ครอบครัวขยายที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นครอบครัวเดี่ยวหมายถึง สมาชิกในครอบครัวที่แม้จะไม่ได้อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน แต่ก็มีปฎิสัมพันธ์กันทั้งในโลกสังคมออนไลน์และในชีวิตจริง

2. เป็นประหนึ่งตาข่ายนิรภัยและรักษาความเป็นส่วนตัวในขณะเดียวกัน หมายถึง สมาชิกในครอบครบครัวคอยช่วยเหลือและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน รวมทั้งปรับปรุงเรื่องความขาดความเป็นส่วนตัว เช่น กรณีที่แต่ละคนที่แยกออกไปจะอาศัยอยู่แต่บ้านของตนเอง แต่บ้านที่ใหญ่ที่สุดจะมีกล้องวงจรปิดติดตามบ้านของครอบครัวที่มีบ้านแยกออกไป เพื่อดูว่าบ้านแต่ละหลังทำอะไรกันอยู่

3. สมาชิกทุกคนในครอบครัวเป็นผู้มีอิทธิพลได้ หมายถึง ความถนัดของแต่คน สามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้ในด้านนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านไอที ด้านอาหารหรือการท่องเที่ยว

4. วิธีการสื่อสารที่ขาดไม่ได้ 3 ชนิด ที่จำเป็นต้องมีในการรวมครอบครัว

4.1. โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก จะมีไว้เพื่อเก็บความทรงจำต่าง ๆ บันทึกภาพกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว
4.2. แอพพลิเคชั่นสนทนา เช่น ตั้งกลุ่มไลน์ครอบครัวไว้แลกเปลี่ยนเรื่องราวของแต่ละคน
4.3. การสนทนาแบบเห็นหน้าผ่านโทรศัพท์ เป็นการเชื่อมสายใยครอบครัวที่ห่างไกลได้รู้สึกเหมือนใกล้ชิดกัน

แม้ครอบครัวในอาเซียนจะกระจายกันอาศัยอยู่ในประเทศ แยกออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยวจากครอบครัวขยาย แต่เทคโนโลยีเป็นตัวหลักสำคัญที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น วันเกิดสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวก็จะมีการรวมตัวจากทุกครอบครัวที่แยกออกไปมาพบปะ สังสรรค์กัน จึงเรียกได้ว่าเป็น ครอบครัวแนวใหม่แห่งอาเซียน

จากผลการวิจัยของศูนย์วิจัยความเป็นอยู่ฮาคุโฮโด-อาเซียน ได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยมและรูปแบบการดำเนินชีวิตในเมืองต่าง ๆ ของประชาคมอาเซียนจำนวน 6 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จาการ์ต้า, สิงค์โปร์, โฮจิมินห์ซิตี้, กัวลาลัมเปอร์และมะนิลา พบว่าลักษณะเด่นของครอบครัวแบบใหม่นี้ คือ ครอบครัวในประเทศอาเซียนมีการเป็นอยู่แบบครอบครัวขยายและแบ่งออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยว อันเป็นผลมาจากความเจริญแบบเมืองใหญ่และการแบ่งแยกระหว่างเมืองกับชนบท ทำให้สมาชิกในครอบครัวเริ่มห่างไกลกัน และด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตผู้คนต่างปรับปรุงสถานะทางการเงินด้วยการอยู่อาศัยในครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง ความทุ่มเทให้กับครอบครัวเป็นลักษณะนิสัยที่ถูกพูดถึงเสมอในภูมิภาคอาเซียน และประเด็นในการวิจัยหัวข้อที่ว่า "ความพอใจกับความสัมพันธ์ในครอบครัว" นี้ ประเทศในอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ ล้วนมีคะแนนสูงกว่าประเทศญี่ปุ่นมากถึง 59.5% อย่างไรก็ตามแม้จะอยู่ในรูปแบบครอบครัวเดี่ยวที่กระจัดกระจายแต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจากงานวิจัยครั้งนี้คือ ทุกคนมีจิตสำนึกรักในครอบครัวของตนเอง

ชนัดดา บุญครอง

โดย Editor
วันที่ 22 ตุลาคม 2557
พิมพ์หน้านี้