ASEAN Connectivity



           ASEAN Connectivity มีความสำคัญมากสำหรับความเป็นสมาคมประชาชาติอาเซียน เพราะเมื่อประชาคมอาเซียนจะเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 2015 แล้ว ก็จะต้องพิจารณา 3 เสาหลักร่วมกัน คือ เสาหลักการเมือง-ความมั่นคง เสาหลักเศรษฐกิจ และเสาหลักสังคมวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสามเสาหลักดังกล่าวต้องมีการเชื่อมโยงและมีผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ถ้าหากประเทศใดมีปัญหาทางการเมืองความมั่นคงแล้ว ก็จะกระทบเสาหลักทางเศรษฐกิจ และเสาหลักสังคมวัฒนธรรมด้วย

         ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากประเทศใดมีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ก็จะเกิดผลกระทบเสาหลักการเมืองความมั่นคงด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ความเชื่อมโยงระหว่างเสาหลักต่างๆ ก็จะถูกกระทบเช่นกัน

            ประเด็นสำคัญในความเชื่อมโยงของประชาคมอาเซียน จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ประเทศในภูมิภาคต้องพิจารณาและให้ความสำคัญ ความเชื่อมโยงดังกล่าวก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวของคน เงินลงทุน การลงทุน สินค้า และการบริการ การไป-มาอย่างเสรี ถ้าหากมีปัญหาใน 3 เสาหลักไม่ว่าปัญหาใด ก็จะทำให้ความเชื่อมโยงต่างๆ มีปัญหาด้วย

           ถ้ามองภาพรวมของประชาคมอาเซียนตั้งแต่ก่อกำเนิดมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่ามีกลุ่มอนุภูมิภาคอยู่ในประชาคมอาเซียนดำเนินการอยู่ และสาเหตุที่เกิดอนุภูมิภาคเหล่านี้ก็เพราะประเทศที่มีเขตติดต่อกันอยู่รวมกันเป็นกลุ่มนั้นมีวัฒนธรรมที่ร่วมกัน มีจังหวัดหรือเมืองที่อยู่ติดกัน สะดวกต่อการติดต่อ ทั้งด้านการคมนาคม การขนส่ง อีกทั้งยังเสริมศักยภาพในทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกันอีกด้วย

           ตัวอย่างเช่น กลุ่ม SIJORI (Singapore - Johor ของมาเลเซีย - RIAU ของอินโดนีเซีย) ซึ่งทั้งสิงคโปร์และจังหวัดของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีความใกล้ชิดกัน มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนาน
ที่สำคัญสิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในมาเลเซียและอินโดนีเซียในฐานะผู้มีเงินทุน เพื่อลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อความสะดวกในการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน ประเทศใดมีความเข้มแข็งด้านใดก็ไปช่วยประเทศที่มีจุดอ่อน


             ความร่วมมือในลักษณะนี้มีความรวดเร็ว และได้ผลมากกว่าในระดับใหญ่ของประชาคมอาเซียน อีกกรณีหนึ่ง คือ ความร่วมมืออนุภูมิภาคของ BIMP-EAGA คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง แต่มาร่วมมือกันทางด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพ (เส้นทางคมนาคมต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายเทคโนโลยีและพลังงาน) ความร่วมมือด้านสถาบัน กฎ ระเบียบ (ที่เอื้อประโยชน์ทางการค้าและด้านพรมแดน) ความเชื่อมโยงด้านประชาชนสู่ประชาชน (การเคลื่อนย้ายคนไปมาหาสู่กัน การลงทุน และทางด้านวัฒนธรรม)

        ที่สำคัญของทั้ง 2 กลุ่มนี้ คือ การระดมทรัพยากรร่วมกันเพื่อเพิ่มพูนความเชื่อมโยงระหว่างกันด้วยแนวคิด NETs (Natural Economic Territories) นอกจากกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังมีกลุ่ม GMS, BIMSTEC, ACMECS, IMT-GT ซึ่ง 3 กลุ่มหลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

        ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอนุภูมิภาค ซึ่งค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ ถ้ากลับมาดูถึงความเชื่อมโยงทั้งหมดของประชาคมอาเซียนโดยรวมแล้ว ก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่ม อนุภูมิภาค แต่การดำเนินการต่างๆ น่าจะล่าช้ากว่าในกลุ่มอนุภูมิภาค เนื่องจากวัฒนธรรมอยู่ในระดับที่หลากหลาย เช่น การเมืองการปกครองหลากหลาย และกฎหมายก็อยู่ในระดับที่หลากหลายเช่นกัน

        ที่สำคัญที่ควรจะดำเนินการก่อน คือ การสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้ง 10 ประเทศ ให้ความเอื้ออาทรต่อกัน เข้าใจวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของความเชื่อมโยงในเบื้องต้น เมื่อมีความเข้าใจกันและเอื้ออาทรต่อกันแล้ว การเชื่อมโยงต่างๆ จะทำได้ง่ายขึ้น

       แต่ในปัจจุบันนั้น หลายประเทศในอาเซียนมีปัญหาทั้งทางด้านการเมืองและความมั่นคง รวมทั้งความไม่เข้าใจกันทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมโยงต่างๆ นอกจากนั้นการเคลื่อนย้ายประชาชนระหว่างกันก็สร้างปัญหาหนักระหว่างประเทศ ในเรื่องการค้ามนุษย์ โรคภัยไข้เจ็บ และยาเสพติด เป็นต้น

         โดยสรุป ประเด็นที่จะทำให้ความเชื่อมโยงต่างๆ ส าเร็จ ต้องเริ่มที่ปัจจัยทางด้านสังคมวัฒนธรรมก่อน จึงจะทำให้ One Caring, One Sharing, และ One Unity, One ASEAN ประสบความสำเร็จได้เกี่ยวกับ ASEAN Connectivity นี้จะมีการจัดการประชุมนานาชาติ เรื่อง "ASEAN Connectivity: Current Issues and Future Prospects" ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 นี้ จะมีการอภิปรายถึงปัญหาหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการรวมกลุ่ม การเคลื่อนย้ายประชากร ภัยพิบัติ โรคภัยไข้เจ็บ การเงิน กฎหมาย และความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างหลายประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน และนอกกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น จะได้ช่วยกันหาทางออกและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ขอขอบคุณที่มา : มติชน (สีดา สอนศรี) 
 
 

 
 
 
 
โดย Editor
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557
พิมพ์หน้านี้